กรอ.พาณิชย์เปิด 15 ประเด็นเร่งด่วนดันส่งออกฝ่าวิกฤติ

779

ช่วยส่งออก! จุรินทร์ จับมือภาคเอกชน ลุยคลายปมปัญหาส่งออก เดินหน้าดันตัวเลขการส่งออก นำเงินเข้าประเทศให้มากที่สุดในช่วงวิกฤติของประเทศและโลกในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 เวลา 13.30 น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุญยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อธิบดีทุกกรมและข้าราชการระดับ10 ร่วมกับภาคเอกชน ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ สมาคมธนาคารไทย และเอ็กซิมแบงค์ ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ณ ห้องกิติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 สํานักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยนายจุรินทร์มุ่งให้เกิดการจับมือกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนเป้าหมายเพื่อผลักดันการส่งออกนำรายได้เข้าประเทศ ภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศกำลังประสบกับปัญหาทั้งเรื่องโควิด-19และด้านเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับในหลายประเทศทั้งนี้เพื่อร่วมกันจับมือแก้ปัญหาให้ปรากฏผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม

หลังการประชุมนายจุรินทร์ กล่าวว่า การร่วมมือเพื่อแก้ปัญหานั้นแบ่งเป็น 3 หมวด ค่อ การเร่งรัดการส่งออก การค้าชายแดน-การค้าข้ามแดน และยุทธศาสตร์การเจรจาข้อตกลงทางการค้าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน สรุปรวม 15 ประเด็น คือ

1.การเร่งรัดการส่งออกข้าว โดยเฉพาะผ่านการทำ MOU ระหว่างไทยกับจีน มีข้อตกลงที่จะนำเข้าข้าวจากไทย 1,000,000 ตันได้ดำเนินการไปแล้ว 700,000 ตัน ค้างอยู่อีก 300,000 ตัน โดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกำลังดำเนินการเสนอราคาอยู่

2.การผลักดันการส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศเวียดนาม ที่ติดขัดเรื่องการตรวจสอบมาตรฐานรถยนต์ที่ส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม มีกฎเกณฑ์รายละเอียดในการตรวจสอบ เช่น การตรวจทุกรุ่น ทำให้การส่งออกของไทยติดขัดมีอุปสรรค ขณะนี้กลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันได้มีข้อตกลงที่จะยอมรับการตรวจรถยนต์นำเข้าหรือส่งออกระหว่างกันโดยไม่ต้องตรวจซ้ำซ้อน และเห็นชอบร่วมกันทั้ง 10 ประเทศ โดยทั้งไทยและเวียดนามอยู่ในนั้นด้วย อยู่ในขั้นตอนการลงนามร่วมกันของแต่ละประเทศ คาดว่าภายในกลางปีหน้าจะเสร็จสิ้น จะช่วยให้การส่งออกรถยนต์ไทยไปเวียดนามคล่องตัวขึ้น

3.การส่งออกของไทยไปอินเดีย มีการตรวจสอบรายโรงงานและรายสินค้า ทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการส่งออก ที่ประชุมมอบให้กระทรวงพาณิชย์โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หารือทางไกลในวันที่ 29 ตค.นี้ให้สะดวกรวดเร็วและเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายมากขึ้น

4.การส่งออกรถยนต์ รถยนต์ที่ผลิตใหม่ภายในประเทศไทยเวลาจะส่งออกนั้นจะติดขัดเรื่องยังไม่มีทะเบียนต้องไปทำทะเบียน อันนี้เป็นปัญหาอุปสรรคในการส่งออก ได้มอบให้กรมการค้าต่างประเทศไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม เป็นต้น

5.ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐช่วยประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าไทยว่าปลอดโควิดซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการไปล่วงหน้าแล้ว มีการลงนาม MOU ร่วมกัน 4 กระทรวง ระหว่าง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย โดยจะมีการออกเอกสาร

รับรองว่าสินค้าปลอดโควิด-19และกระทรวงพาณิชย์จะจัดงานประชาสัมพันธ์เป็นคลิปVODหลายภาษาออกไปทั่วโลกเพื่อประชาสัมพันธ์ว่าสินค้าของเรามีกระบวนการผลิตที่ปลอดโควิด-19

6.เรื่องต้นทุนการขนส่ง เช่น ค่าระวางเรือกับค่าทำเนียมเรือที่มีราคาสูง และที่อาจมีการยกเลิกตู้ที่ประเทศไทยจองไว้หรือที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยบังคับให้ภาคเอกชนหรือผู้ส่งออกต้องไปใช้ท่าเรือชายฝั่ง A0 ซึ่งค่อนข้างคับแคบ ทำให้ติดอุปสรรคที่ต้องการความรวดเร็วการเรียกเก็บค่าการใช้ร่องน้ำ กระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับภาคเอกชนในการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางคลี่คลายปัญหานี้โดยเร็วต่อไป

7.เรื่องค่าเงินบาทได้มอบให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ไปพูดในที่ประชุม ศบศ.หรือศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจต่อไป

8.การที่เวียดนามได้มีการไต่สวนกล่าวหาว่าน้ำตาลไทยทุ่มตลาดในเวียดนาม มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกน้ำตาลของไทยหารือร่วมกันในการทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อไป

9.การช่วยผู้ส่งออกรายย่อยหรือเอสเอ็มอีนั้น จะให้เอ็กซิมแบงค์ช่วยเพิ่มช่องทางและเพิ่มเป้าหมายที่จะช่วยเอสเอ็มอีให้เพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และเอ็กซิมแบงค์ช่วยเพิ่มชนิดของสินทรัพย์หรือทรัพย์สินที่นำไปเป็นหลักประกันเงินกู้เพิ่มเติมเพื่อให้สามารถกู้ได้สะดวกขึ้น

10.การค้าชายแดนและการค้าข้ามแดน อยากให้มีการเปิดด่านหรือจุดผ่อนปรนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะไทยลาวมีทั้งหมด 39 จุดไทยกัมพูชามี 10 จุด มอบหมายให้ผู้แทนของกรมการค้าต่างประเทศไปหาหรือกับหอการค้า กำหนดจุดเร่งด่วนที่เป็นเป้าหมาย ที่จะเร่งช่วยผลักดันให้มีการเปิดด่านต่อไปเพื่อส่งเสริมตัวเลขการส่งออกให้มากขึ้นโดยเร็ว

11.ให้มีการเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 ประเทศ ไทย ลาว และจีน เพราะทั้งสามประเทศมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ ถ้าสามารถเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งสามเขตนี้ได้ เส้นทางคมนาคมความร่วมมือและการให้สิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างกัน จะช่วยส่งเสริมการส่งออกให้ทั้งสามประเทศ

12.ต้องการให้มีการพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ของไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดน โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะร่วมมือกับภาคเอกชนว่าทำเป็นรูปธรรมได้อย่างไร

13.การอำนวยความสะดวกการส่งสินค้าข้ามแดนและสินค้าชายแดนในการออกใบ C/O ซึ่งเอกชนร้องเรียนว่าอาจติดปัญหาอุปสรรค จึงมอบเป็นนโยบายว่าให้ไปหารือในรายละเอียดร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ว่ามีปริมาณการจราจรทาง C/O มากน้อยแค่ไหน ให้ถือหลักว่ากระทรวงพาณิชย์ยินดีให้บริการให้ดีที่สุด แม้แต่ในช่วงวันหยุด เพื่อที่จะเร่งรัดการส่งออกในช่วงวิกฤติ

14.ในเรื่องของยุทธศาสตร์การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป้าหมายคือ 1.เราจะเร่งรัดการทำ FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ไทยกับสหราชอาณาจักร ไทยกับแคนาดา ไทยกับ EFTA  และไทยกับกลุ่มประเทศยูเรเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  RCEP ซึ่งจะร่วมมือให้มีการลงนามให้ได้ภายในพฤศจิกายน 2563 และมอบให้มีการทำFTA รายมณฑล คือการทำ MOU ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทย ภาคเอกชน ประกอบกับมณฑลต่างๆหรือรัฐต่างๆของประเทศใหญ่ๆ เพื่อลงลึกในการที่จะให้มีข้อตกลงพิเศษทางการค้าระหว่างกัน ขณะนี้มีความคืบหน้าของกระทรวงพาณิชย์ไทยกับมณฑลไหหลำ ซึ่งไหหลำจะกลายเป็นเมืองปลอดภาษีแห่งถัดไปของจีนหรือจะเป็นฮ่องกงสองในอนาคต เราจะเข้าไปเป็นกลุ่มแรกๆ อีกไม่นานนี้จะลงนามข้อตกลงได้ เพราะยกร่างเสร็จแล้วรอทั้งสองฝ่ายปรับปรุงแก้ไขระหว่างกันจะนำไปสู่การลงนามได้ภายในเวลาเร็ว

และข้อตกลงระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทยกับรัฐเตลังกานาของประเทศอินเดียซึ่งมีความก้าวหน้ามาก ได้มีการกำหนดวันที่จะลงนามร่วมกันแล้วคือวันที่ 18 มกราคมปีหน้า ซึ่งครบรอบหนึ่งปีที่นำเอกชนไปเยือนรัฐเตลังกานาที่ประเทศอินเดีย

15.เมื่อ FTA บรรลุผลมากขึ้น จะมีผู้ได้รับผลกระทบจากการทำ FTA อยู่บ้างในบางกลุ่มของผู้ส่งออกหรือผู้ประกอบการรวมทั้งประชาชนภาคการเกษตร ควรมีการจัดตั้งกองทุน FTA เพื่อไปเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ มอบให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นเลขานุการยกร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งกองทุน FTA ขึ้นมา และต่อไปนี้ภาครัฐกับเอกชนจะจับมือร่วมกันร่วมกันแก้ปัญหา เดินหน้าด้วยกัน เพื่อทำตัวเลขการส่งออกให้ดีที่สุดและนำเงินเข้าประเทศให้มากที่สุดในช่วงวิกฤติของประเทศและวิกฤติโลกในปัจจุบัน