คปภ. ติวเข้มภาคธุรกิจประกันภัย เร่งสร้างความเข้าใจกฎหมายใหม่

1033

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวเปิดงานสัมมนา “โครงการทำความเข้าใจหลักการของร่างกฎหมายแม่บทด้านการประกันภัย (กลุ่มที่ 1) ที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอคองคอร์ด กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานสัมมนาจากหลายภาคส่วนของธุรกิจประกันภัย กว่า 300 คน ประกอบด้วย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงิน สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย สภาวิชาชีพบัญชี สมาคมธนาคารไทย กองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย ผู้แทนจากบริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย ตัวแทน/นายหน้าประกันภัย ผู้ประเมินวินาศภัย ตลอดจนบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย บริษัทที่ปรึกษาบัญชี และประชาชนทั่วไป

สำหรับการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอยู่ในระหว่างขั้นตอนทูลเกล้าฯ กฎหมายทั้งสองฉบับ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โดยจะมีผลบังคับใช้ใน 180 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกันชีวิตและกฎหมายประกันวินาศภัยปัจจุบัน ประเด็นแรก ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำกับดูแลคนกลางประกันภัย และผู้ประเมินวินาศภัย ให้มีประสิทธิภาพและมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องของการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะขอรับใบอนุญาต รวมถึงกระบวนการในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของคนกลางประกันภัย และผู้ประเมินวินาศภัย ซึ่งจะมีการกำหนดขอบเขตให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อลดปัญหาความไม่ชัดเจนของข้อกฎหมาย (gray area) ที่ทำให้เกิดการตีความถ้อยคำที่ไม่ตรงกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจและหน่วยงานกำกับดูแล นอกจากนี้ได้มีการปรับปรุงรูปแบบการประกอบธุรกิจประเมินวินาศภัย โดยให้อยู่ในรูปแบบนิติบุคคลเป็นหลัก เพื่อช่วยให้ประชาชนได้รับการบริการด้านการประเมินวินาศภัยที่เป็นระบบในรูปนิติบุคคล ซึ่งจะต้องมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน และหากเกิดความเสียหายจากการดำเนินการขึ้นจะมีระบบธรรมาภิบาลเข้ามาช่วยในการบริหารและรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งการตรวจสอบการดำเนินการจะสามารถทำได้สะดวกมากขึ้นหากอยู่ในรูปแบบนิติบุคคล อีกทั้งการมีใบอนุญาตเพียงประเภทเดียวจะไม่เป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยในการขออนุญาตซ้ำซ้อน

ประเด็นที่สอง เปิดช่องให้คณะกรรมการ คปภ. สามารถกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นการเฉพาะสำหรับธุรกิจประกันภัย ซึ่งเป็นการสอดรับกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น และเพื่อให้มีมาตรฐานกลางด้านการรักษาความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกิจประกันภัยในการยึดถือปฏิบัติ โดยจะช่วยเสริมสร้างความเข็มแข็ง ความมั่นคงปลอดภัยทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของธุรกิจประกันภัย รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยในฐานข้อมูลของผู้เอาประกันภัยด้วย และประเด็นสุดท้าย คือ กำหนดให้การฉ้อฉลประกันภัยเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยประกันภัย ซึ่งเดิมความผิดเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยไม่มีปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติประกันชีวิตฯ และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยฯ ส่งผลให้หากเกิดกรณีที่เข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัยที่กระทบกับประชาชนทั่วไป สำนักงาน คปภ. ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการใดๆ กับผู้ที่กระทำความผิดได้ นอกจากนี้ยังเกิดการฉ้อฉลประกันภัยทั้งจากบุคคลที่อยู่ภายนอกธุรกิจหรือแม้แต่เกิดจากคนที่อยู่ในธุรกิจประกันภัยเองก็ตาม ซึ่งหากไม่มีมาตรการเพื่อลงโทษผู้ที่กระทำความผิดหรือป้องปรามผู้ที่จะกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจประกันภัยโดยรวมได้