คปภ.โชว์ผลงานครึ่งปี62ยกระดับ3พันธกิจขับเคลื่อนธุรกิจสู่สากล

1093

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดให้ปี 2562 เป็นปีแห่ง “การพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมประกันภัยให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง” เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในระยะยาว ด้วยการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมประกันภัยให้มีมาตรฐาน ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมประกันภัย ควบคู่กับการกำกับดูแลและตรวจสอบอย่างสมดุลที่ไม่เพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการ แต่ยังคงให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัย นอกจากนี้จะยกระดับศักยภาพองค์กร ให้มีบุคลากรที่มีศักยภาพและนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับ ตรวจสอบ และบริการประชาชน รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างการให้ความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัยเชิงรุกเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากระบบประกันภัยอย่างเต็มที่ และสามารถนำระบบประกันภัยมาช่วยในการบริหารความเสี่ยงต่างๆ ให้กับประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล ผ่าน 3 พันธกิจที่สำคัญคือ 1.พัฒนาธุรกิจประกันภัยให้มีความเข้มแข็งมั่นคง 2.ส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจประกันภัยมีบทบาท สร้างเสริมความเข้มแข็ง มั่นคงให้กับระบบเศรษฐกิจสังคมของประเทศ และ 3. คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัยให้ได้รับความเป็นธรรมจากการประกันภัย

ด้านนโยบาย ได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี และขับเคลื่อนภารกิจตามแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 3 ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า “สำนักงาน คปภ. เป็นหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยที่เป็นภูมิคุ้มกันของประเทศในการบริหารความเสี่ยง ให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับรายย่อย (Microinsurance) กรมธรรม์ประกันสุขภาพ กรมธรรม์ประกันภัยพืชผล กรมธรรม์ PA ที่รองรับนโยบายภาครัฐ : กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุสำหรับนักท่องเที่ยว ขับเคลื่อน Regulatory Reform หรือ Regulatory Guillotine และเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมประกันภัยทั้งระบบ รวมถึงการพัฒนากรอบการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงระยะที่ 2 (RBC 2) และการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจประกันภัย โดยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ควบคู่กับการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้กับผู้เอาประกันภัยอย่างครบวงจร

จากเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในไตรมาสแรกของปี 2562 ขยายตัวค่อนข้างต่ำ และชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากครึ่งปีหลังของปี 2561 โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของการเจรจาออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) รวมทั้งทิศทางการดำเนินนโยบายการค้าและการนำเข้าของสหรัฐอเมริกาสหรัฐฯ ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศจีนและยูโรโซนขยายตัวต่ำต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ในขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ กลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญอื่นๆ ชะลอตัวลงตามการปรับตัวของมูลค่าการส่งออกในหลายๆประเทศ และสำหรับธุรกิจประกันภัยไตรมาสแรก (มกราคม – มีนาคม 2562) ธุรกิจประกันภัยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง รวมทั้งสิ้น 207,208 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 4.09 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้สัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศในไตรมาสแรกอยู่ที่ร้อยละ 4.92 แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงจากธุรกิจประกันชีวิต จำนวน 147,857 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 7.02 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีเบี้ยประกันชีวิตรับสูงสุด ได้แก่ การประกันชีวิตประเภทสามัญ จำนวน 99,283 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 8.87 รองลงมาเป็นประเภทกลุ่ม จำนวน 12,295 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.16  นอกจากนี้ยังมีเบี้ยประกันภัยรับจากสัญญาเพิ่มเติมจากการประกันภัยสุขภาพ จำนวนทั้งสิ้น 20,924 ล้านบาท เติบโตในอัตราเร่งที่ร้อยละ 9.54 ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจเกี่ยวกับสุขภาพมากยิ่งขึ้น

ขณะที่เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของธุรกิจประกันวินาศภัย จำนวน 59,351 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด ได้แก่ การประกันภัยรถ จำนวน 35,873 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.67 ซึ่งแบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยจากการประกันภัยรถภาคบังคับ จำนวน 4,816 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.71 และจากการประกันภัยรถภาคสมัครใจ 31,057 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.14 รองลงมา คือ การประกันภัยเบ็ดเตล็ด จำนวน 19,681 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.85 ตามด้วยการประกันอัคคีภัย จำนวน 2,375 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 4.63 และการประกันภัยทางทะเลและขนส่ง จำนวน 1,412 เติบโตลดลงร้อยละ 2.36

สำหรับอัตราผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตต่อประชากรอยู่ที่ร้อยละ 39.53 เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 35.81 โดยมีเบี้ยประกันภัยรวมต่อจำนวนประชากร จำนวน 12,809.10 บาท จากเบี้ยประกันชีวิตต่อจำนวนประชากร 9,281.07 บาท และเบี้ยประกันวินาศภัยต่อจำนวนประชากร 3,528.03 บาท และสำหรับสินทรัพย์รวมของธุรกิจประกันภัยมีทั้งสิ้นจำนวน 4,084,264 ล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 6.33 และสินทรัพย์ลงทุนจำนวน 3,730,146 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นสินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันชีวิตจำนวน 3,393,058 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.31 และสินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันวินาศภัยจำนวน 337,087 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.62 นอกจากนี้ธุรกิจประกันชีวิตยังมีกรมธรรม์จำนวน 804,784 ฉบับ ขยายตัวร้อยละ 13.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และธุรกิจประกันวินาศภัยยังมีกรมธรรม์จำนวน 16,632,152 ฉบับ ขยายตัวร้อยละ 11.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน