
ดร.มงคล รัตนพันธ์
ประธานบริหาร บริษัท เวิลด์ เอเซีย โซลูชั่น จำกัด (WAS)
รับเหมาแรงงาน..โตข้ามชาติ
จากเมืองไทยสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา ประเทศเมียนมาร์
แรงงานนับเป็นปัญหาใหญ่ของทุกอุตสาหกรรม หากบริหารจัดการไม่ดีก็จะเกิดการประท้วง การลาออก การขาดแคลนแรงงาน นักลงทุนต่างชาติจึงหันมาใช้บริการบริษัท outsourcing หรือบริษัทรับเหมาแรงงานซึ่งจะส่งแรงงานป้อนตามโรงงานต่างๆ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ! มูลค่าบริการในธุรกิจนี้มากกว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปี!!! “Creative Econ” สัมภาษณ์พิเศษ ดร.มงคล รัตนพันธ์ ประธานบริหาร บริษัท เวิลด์ เอเซีย โซลูชั่น จำกัด หรือ WAS สุดยอดซีอีโอระดับท็อปอาเซียนกับกลยุทธ์ คิดต่าง..ทางรวย ผู้ให้บริการรับเหมาแรงงานและรับเหมาชิ้นงานรายใหญ่ของเมืองไทย รายแรกและรายเดียวที่สยายปีกจากเมืองไทยสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา ประเทศเมียนมาร์!!!
อยากให้ฉายภาพของธุรกิจนี้ว่าเป็นอย่างไร?
ธุรกิจนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น และเริ่มเข้ามาเมืองไทยเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา โดยบริษัทที่เข้ามาลงทุนจะจ้างพนักงานประจำระดับผู้จัดการและหัวหน้างานเท่านั้น ส่วนพนักงานฝ่ายการผลิต เช่น พนักงานหยิบน็อต พนักงานติดชิ้นส่วน พนักงานแบกของ ฯลฯ จะใช้คนของบริษัทเอาท์ซอร์สทั้งหมด คือว่าจ้างบริษัทอย่างพวกผมให้ส่งคนเข้าไป พอหมดสัญญาก็เอาคนออกมาไปประจำโรงงานอื่นต่อ วิธีการนี้ช่วยให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าไม่ต้องแบกคอร์สพนักงานประจำ ช่วงไหนไม่มีงานก็ไม่ต้องใช้คน ซึ่งถ้าเขาจ้างประจำ ช่วงไหนไม่มีงานก็ต้องจ่ายเงินเดือน จ่ายสวัสดิการต่างๆ อย่างโรงงานรถยนต์เขาจะรู้เลยว่าปีนี้มียอดจองรถหมื่นคัน ต้องใช้คนงานกี่คน ใช้เวลาการผลิตเท่าไหร่ ก็ทำสัญญาว่าจ้างเราส่งคนเข้าไปทำการผลิตในช่วงนั้นๆ พอหมดล็อตนี้ก็เลิกสัญญา ล็อตใหม่มาก็ทำสัญญาว่าจ้างกันใหม่
มูลค่าการรับงานของ WAS ต่อปี?
ตอนผมเปิดบริษัทปี 2550 ปิดยอดขายที่ 300 ล้านบาท เราตั้งเป้าโตปีละ 15-20% ล่าสุดเราปิดที่ 1,500 ล้านบาท
คู่แข่งเยอะไหม?
ในสมาคมผู้ประกอบการรับเหมาแรงงานแห่งประเทศไทย มีประมาณ 40 บริษัท แต่เราไม่ได้เน้นแข่งขันกันทางธุรกิจ ใช้วิธีเชื่อมโยงกัน บริษัทนี้ได้งานมาทำไม่ได้ก็แชร์ให้อีกบริษัทรับไปทำ เช่นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ต้องการแรงงาน 1,000 คนภายใน 1 เดือน บริษัทที่รับงานมาหาไม่ทันก็ให้บริษัทอื่นที่มีศักยภาพมารับช่วงต่อ เป็นการปรึกษากันมากกว่า
ใช้แรงงานจากที่ไหน?
ของผมเป็นแรงงานไทย 100% ซึ่งก็มีปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจากปัจจุบันแรงงานไทยไม่ทำงาน 3 ประเภทคือ 1.งานอันตราย 2.งานยากๆเช่นการปีนตึกสูงขึ้นไปเช็ดกระจก 3.งานประมง แต่ผมยังยืนหยัดที่จะใช้แรงงานไทย เนื่องจากฝีมือดีกว่าแรงงานต่างด้าว
การใช้พนักงานเอาท์ซอร์สดีกว่าพนักงานของตัวเองอย่างไร?
รู้ค่าใช้จ่ายชัดเจน เช่น บริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้เอาท์ซอร์ซ กลุ่มนี้ทำเคส กลุ่มนี้ทำหน้าจอ กลุ่มนี้ประกอบ กลุ่มนี้ทำการตลาด รู้ค่าใช้จ่ายแน่นอน ต้นทุนต่อเครื่องเท่าไหร่ ต้องขายเครื่องละเท่าไหร่ รู้ระยะเวลาการผลิตแน่นอน เช่นผลิตมือถือ 10 ล้านเครื่อง ระยะเวลาการผลิต 10 เดือน หลังจาก 10 เดือน ไม่มีออเดอร์ก็ไม่ต้องวุ่นวายเรื่องคนงาน แต่ถ้าทำโรงงานเองจะเอาคนไปไว้ไหน ก็ต้องแบกรับภาระค่าแรง ค่าประกันสังคม ค่าสวัสดิการ อีกสิ่งหนึ่งที่ได้เปรียบชัดเจนคือถ้าบริษัทเอาท์ซอร์สส่งคนไปทำงาน ประเมินแล้วทำงานไม่ดี สามารถขอเปลี่ยนคนใหม่ได้ แต่ถ้าจ้างเอง พนักงานทำงานไม่ดีก็ต้องจ้างต่อ ถ้าให้ออกต้องจ่ายเงินชดเชย ยังไม่นับวันป่วย วันพักร้อน วันลากิจ ฯลฯ ไม่ต้องมีผลผูกพันด้านกฎหมายแรงงาน ไม่มีปัญหาการประท้วง เนื่องจากเราจะรับผิดชอบค่าจ้าง ค่าประกันสังคม ค่าภาษี ค่าเบี้ยขยัน โบนัส ค่าสวัสดิการต่างๆเบ็ดเสร็จ โดยเราจะสรุปค่าบริการจ้างเหมาแรงงานทั้งหมดให้แก่ผู้ว่าจ้าง และนำเงินนั้นไปจ่ายให้กับพนักงานตามเวลากำหนด หรือตามข้อตกลงของสัญญา
มีการฝึกฝีมือแรงงานหรือเปล่า?
ก่อนส่งพนักงานเข้าไปประจำต้องเทรนก่อน เช่นจะไปทำงานในโรงงานรถยนต์ ก็มีแพ็ทเทิร์นให้ดูว่ารูปแบบงานเป็นแบบนี้คุณยอมรับได้ไหม กฎ กติกา มารยาท ที่ต้องปฏิบัติขณะประจำการอยู่ในโรงงานนั้น พอเข้าไปในโรงงานต้องเทรนอีก 3 วันเพื่อเรียนรู้การใช้อุปกรณ์เครื่องมืออย่างถูกต้อง
ถ้าพนักงานประพฤติตนไม่เหมาะสม?
ผู้ว่าจ้างมีสิทธิขอเปลี่ยนตัวได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย และเราจะจัดส่งพนักงานใหม่ทดแทนภายในไม่เกิน 7 วัน
เห็นว่าจะเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์?
ใช่ครับ เนื่องจากคนงานของผมส่วนใหญ่ป้อนให้กับโรงงานญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเมียนมาร์ทำเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา เมืองย่างกุ้ง หลายโรงงานจึงขยายฐานการผลิตไปในนิคมอุตสาหกรรมติละวา เมื่อมีโรงงานก็ต้องใช้แรงงาน เขาจึงอยากให้เรานำระบบจากเมืองไปให้บริการที่โน่นด้วย โดยเราจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ประกอบด้วย 3 หุ้นส่วนคือ หุ้นส่วนชาวเมียนมาร์ดำเนินการจัดหาคนงานเมียนมาร์เข้าไปประจำโรงงานในติละวา หุ้นส่วนชาวญี่ปุ่นดำเนินการด้านเงินทุน และ WAS ดำเนินการด้านระบบบริหารจัดการแรงงาน มูลค่าการลงทุนเบื้องต้น 200 ล้านบาท
รูปแบบการบริการคล้ายกับในเมืองไทยไหม?
คล้ายกันคือหาคนเมียนมาร์ส่งเข้าไปทำงานในในโรงงาน ปัจจุบันมีประมาณ 50-60 โรงงาน โดยเราจะเน้นลูกค้าญี่ปุ่นเป็นหลัก นอกจากส่งคนงานเข้าไปในไลน์การผลิตของแต่ละโรงงานแล้ว อีกส่วนที่เราจะทำคือเข้าไปเปิดสถาบันพัฒนาฝีมือแรงานในเมียนมาร์ ด้วยข้อกำหนดของญี่ปุ่นคนที่จะเข้าไปทำงานต้องมีทักษะ พูดภาษาญี่ปุ่นได้ ใช้เวลาฝึกประมาณ 3-4 เดือน ในระหว่างการฝึกก็มีเงินเดือนตั้งแต่วันแรกที่มาฝึกงานจนชำนาญ เน้น 3 เรื่องคือ 1.ทักษะ 2.ความชำนาญ 3.ภาษา ถ้าผ่านถือใบ certificate เข้าไปทำงานในโรงงานญี่ปุ่นได้เลย
มั่นใจแค่ไหนกับการเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์?
การลงทุนมีความเสี่ยงทั้งนั้น แต่เรามีประสบการณ์ มีสถาบันการเงินสนับสนุน มีพาร์ทเนอร์ที่ดี มีบริษัทที่ปรึกษาเข้าใจบริบทการลงทุนในเมียนมาร์อย่างดี ศึกษาความเป็นไปได้มานานกว่า 2 ปี ทำให้เรามั่นใจ 100% อาจมีความเสี่ยงแอบแฝงบ้างซึ่งเราก็วางแผนรองรับในกรณีความเสี่ยงนั้นๆเกิดขึ้นไว้แล้ว การทำงานต้องเจอปัญหาอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าจะเจอแบบไหน วัฒนธรรมบ้านเราเป็นแบบหนึ่ง เมียนมาร์ก็เป็นอีกแบบ เราต้องค่อยๆปรับ ผมไม่ได้กลัวปัญหาตรงนั้น ขอแค่เราอย่าท้อเวลาเจอปัญหาก็พอ เราเชื่อว่าจะผ่านปัญหาอุปสรรคทั้งหลายไปได้
มีบริษัทเอาท์ซอร์สของคนไทยเข้าไปลงทุนไหม?
ถ้าเป็นธุรกิจนี้เราถือเป็นรายแรกของไทยที่เข้าไปลงทุน การทำธุรกิจแรงงานในเมียนมาร์ต้องมีใบอนุญาต ไม่ใช่อยู่ดีๆไปเปิดบริษัทแล้วจะทำได้เลย ซึ่งใบอนุญาตขอยากมาก
มุมมองเกี่ยวกับอาเซียน?
ใครที่คิดจะเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน ควรศึกษาลู่ทางให้ถ่องแท้ บางคนไปลงทุนโดยที่ไม่ได้ทำ SWOT มาก่อน ไม่ได้วิเคราะห์จุดดี จุดด้อย ปัญหาภายใน ปัญหาภายนอก ก็จะมีปัญหา อย่างผมจะเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์ก็ต้องรู้ว่าข้อดีข้อเสียของเมียนมาร์เป็นยังไง และตัวเราเป็นยังไง ควรศึกษาข้อมูลแท้จริงให้บรรลุทั้งสองมุม อย่ามองแค่มุมดีอย่างเดียว ให้ตั้งไว้เลยว่า 2-3 ปีแรกอย่าคิดเรื่องกำไร ศึกษาให้รู้ระบบอย่างลึกซึ้งก่อนแล้วค่อยมองเรื่องผลกำไร และควรเลือกประเทศให้เหมาะกับธุรกิจของตัวเอง อย่างธุรกิจของผมประเทศที่ไม่เหมาะเข้าไปลงทุนคือสิงคโปร์ เพราะสิงคโปร์จ้างประเทศอื่นผลิต เวียดนามคู่แข่งมาก แต่เมียนมาร์ กัมพูชา น่าลงทุน
หน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างไรบ้าง?
เรามีทีมงานเข้าไปปรึกษาสถานทูตเมียนมาร์ บีโอไอเมียนมาร์ ข้อกฎหมายการค้าในหน่วยงานต่างๆของเมียนมาร์ ซึ่งให้ความร่วมมืออย่างดี
อนาคตของธุรกิจบริการแรงงาน?
ขยายตัวแน่นอน อย่าง WAS มีอัตราการเติบโต 15-20% ทุกปี ผมว่า ณ วันนี้คนยังรองานอยู่จำนวนมาก ไม่ใช่ว่าคนตกงานนะ หลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่น้ำท่วม แฮมเบอเกอร์ไครซิส ปัญหาแต่ละปีไม่เหมือนกัน เดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวลง เราปรับตัวมานานแล้ว ธุรกิจแรงงานไปได้แน่นอน ตราบใดที่ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองไทย เพราะว่าธุรกิจของผมคือธุรกิจเอาท์ซอร์ส ยกตัวอย่างแอปเปิลไม่มีโรงงาน ใช้เอาท์ซอร์สทั้งหมด ซึ่งบริษัทอย่างพวกผมนี่แหละรับจ้างทำให้ ไมโครซอฟต์ก็ไม่มีโรงงาน ใช้เอาท์ซอร์สทั้งหมด ทุกอย่างเปลี่ยนไปจากอดีต เพียงแต่ว่าคุณจะวาง positioning ของคุณอยู่ตรงไหน จะเป็นท็อปทรี ท็อปไฟว์ หรือท็อปเทน
ถ้าเปรียบเทียบกลุ่มบริษัทคนไทยด้วยกันเราถือเป็นท็อปอาเซียนได้ไหม?
ใช่ครับ
อยากทราบว่าเข้ามาสู่วงการนี้ได้อย่างไร?
ก่อนหน้านี้ผมเป็นเซลล์ขายเครื่องจักรให้กับโรงงานอุตสาหกรรม ปี2547 ออกมาช่วยพี่สาวทำธุรกิจนี้ ตอนนั้นมีแรงงานประมาณ 200-300 คน ผมมีหน้าที่วิ่งหาโรงงาน ประมาณปี 2550 เศรษฐกิจไม่ดีพี่สาวเลยยกให้ผมทำแทน เหมือนกับรับเผือกร้อนมาไว้ในมือ แม้จะมีคนงานกระจายอยู่ตามโรงงาน แต่หลังบ้านไม่มีเงินเลย ขณะที่สิ้นเดือนต้องจ่ายเงินเดือนคนงาน 200-300 คน แก้ไขอิรุงตุงนัง เข้าไปเจรจากับแบงก์ จนปัญหาต่างๆลุล่วงจึงตั้งแผนกเซลล์ลุยเต็มที่ ประมาณ 5 ปี ไม่เจอหน้าเพื่อนฝูง คนงานกระโดดจาก 300 คนเป็น 4,000 คน ในปี 2555 และกลายเป็น 12,000 คนในปัจจุบัน ความโชคดีส่วนหนึ่งคือเราได้ลูกค้าดี จ่ายเงินตรง ได้ธนาคารสนับสนุน ช่วงปี 2555 ผมเปิดแผนกรับเหมาชิ้นงาน ขึ้นมาอีกหนึ่งธุรกิจ คือรับเหมางานจากลูกค้ามาทำทั้งหมด เช่นลูกค้ามีแผนกติดสติกเกอร์บนสินค้า แต่เขาไม่มีแรงงาน แทนที่เราจะส่งแรงงานเข้าไปรับเหมาเหมือนเดิม ก็ขอเช่าไลน์การผลิตของลูกค้าเลย แล้วเอาคนของเราเข้าไปทำ หรือที่เรียกว่า OEM รับจ้างผลิตสินค้าทุกอย่างที่ลูกค้าอยากให้ทำ โดยลูกค้าหาออเดอร์ให้ หาวัตถุดิบให้ หาที่เก็บสต็อกสินค้าให้ เราทำหน้าที่รับจ้างผลิตอย่างเดียว
บริหารคนจำนวนมากคงเจอปัญหาตลอด?
กว่าผมจะมีแรงงานอยู่ในระบบ 12,000 คนสาหัสมาก ต้องรับสมัครเป็นแสนคน เนื่องจากการลาออกของแรงงานสูงมาก รับสมัครคนงาน 100 คน ออก 80 คน ผมตั้งสถิติเลยว่าเดือนหนึ่งหา 1,000 คน ออก 800 คน เหลือ 200 คนที่อยู่ถาวร โดยเฉพาะคนงานวัย 18-22 ปี ออกเยอะมาก มาทำงาน 4-5 วันออก 10 วันออก 20 วันออก 30 วันออก
ชอบพนักงานคุณสมบัติแบบไหน?
ผมชอบคนรู้จักแก้ปัญหามากกว่าคนฉลาด เช่นถ้ามีคนจบเกียรตินิยมกับคนจบเกรดระดับกลางๆมาสมัครเป็นเซลล์ ผมจะเลือกคนจบเกรดกลางๆ เนื่องจากคนกลุ่มนี้เมื่อไปขายของแล้วถูกลูกค้าปฏิเสธ จะไม่ท้อ หา 10 รายได้ 2 ราย ก็แฮปปี้ แต่ถ้าเป็นคนจบเกียรตินิยมโดนปฏิเสธจะรู้สึกท้อ เนื่องจากชีวิตเขาไม่เคยผิดหวัง และคนเรียนไม่เก่งมักจะมีไอเดียแปลกๆในการแก้ปัญหา ชอบคิดต่างจากคนอื่น คิดนอกกรอบ นี่เป็นมุมมองของผมนะ
มีทัศนคติในการทำงานอย่างไร?
คติของผมคืออย่าหนีปัญหา คนที่จะประสบความสำเร็จต้องรู้จักการแก้ปัญหา ได้หรือไม่ได้ทำไปก่อน ถ้าคิดจะทำต้องทำ อย่าแค่คิด ผมไม่เคยเสียใจกับสิ่งที่ทำ แต่เสียใจกับสิ่งที่คิดแล้วไม่ได้ทำ ทำแล้วผิดหรือถูกไม่เป็นไร อย่างน้อยเราได้เรียนรู้กับเรื่องนั้น คนทำธุรกิจต้องรู้รอบด้าน บัญชี สรรพากร ประกันสังคม ธนาคาร การตลาด การบริหารเงินทุน ฯลฯต้องรู้หมด รู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเดียวไม่ได้
กิจกรรมหลังงานและกิจกรรมเพื่อสังคม?
ผมชอบเล่นกอล์ฟ ท่องเที่ยวตามภูเขา ทะเล เนื่องจากเมื่อก่อนเราทุ่มเทให้กับงานเต็มที่ ทั้งวันไม่ได้ไปไหน ขลุกอยู่แต่ในออฟฟิศ วันนี้เซ็ทระบบลงตัว จึงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ข้างนอก ไปพบลูกค้า ไปเข้าอบรมหลักสูตรต่างๆ ในขณะที่กิจกรรมเพื่อสังคมก็ทำมาตลอด เป็นสปอนเซอร์ทีมเยาวชนสโมสรฟุตบอลของทหารอากาศ แจกทุนการศึกษา อุปกรณ์การศึกษาให้กับโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร โดยเน้นโรงเรียนในพื้นที่ของพนักงาน
นบเป็นสุดยอดซีอีโอ ที่เดินหน้าเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างภาคภูมิ!!!