นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนม.ค.2564 มีมูลค่า 19,706.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.35% เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน นับจากเดือนธ.ค.2563 ที่เพิ่มขึ้น 4.71% การนำเข้ามีมูลค่า 19,909.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.24% แต่การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบไม่ได้ลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อต่อการส่งออกในอนาคต และขาดดุลการค้า 202.4 ล้านเหรียญสหรัฐ
ปัจจัยที่ส่งผลให้การส่งออกฟื้นตัว มาจากเศรษฐกิจโลกที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้กระตุ้นกำลังซื้อ และประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ที่เริ่มเห็นผลชัดเจน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นกลับมา ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้น ขณะที่สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ฟื้นตัวดี โดยสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เพิ่มขึ้น 3.7% สินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 0.9% รวมถึงตลาดส่งออกหลายตลาดเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น
สำหรับสินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ อาหาร โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง และสิ่งปรุงรสอาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ โทรศัพท์และส่วนประกอบ สินค้าป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ เภสัชภัณฑ์ และถุงมือยาง และยังมีสินค้าที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวดี เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น
ส่วนตลาดส่งออกที่ฟื้นตัวดี ได้แก่ ตลาดหลัก เพิ่ม 5.7% โดยญี่ปุ่น เพิ่ม 7.4% สหรัฐฯ เพิ่ม 12.4% แต่สหภาพยุโรป 15 ประเทศ ลด 5.4% ตลาดศักยภาพสูง เพิ่ม 1.4% โดยอาเซียนเดิม 5 ประเทศ ลด 11% แต่ CLMV เพิ่ม 3.8% จีน เพิ่ม 9.9% ฮ่องกง เพิ่ม 23.4% เกาหลีใต้ เพิ่ม 6.6% ไต้หวัน เพิ่ม 18.1% แต่อินเดีย ลด 11.5% ตลาดศักยภาพระดับรอง เพิ่ม 10.3% โดยทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 30.3% ตะวันออกกลาง เพิ่ม 13.1% แอฟริกา เพิ่ม 6.3% แคนาดา เพิ่ม 10.2% แต่ลาตินอเมริกา ลด 2.9% สหภาพยุโรป 12 ประเทศ ลด 18% กลุ่ม CIS รวมรัสเซีย ลด 2.1% และตลาดอื่นๆ ลด 87.3% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ลด 93.8%
นายภูสิต กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกคาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง และวัคซีนโควิด-19 ช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมา โดยหากส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 20,093 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้การส่งออกทั้งปีบวก 4% แต่ยังต้องระวังปัจจัยกดดัน ทั้งการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่ ปัญหาด้านการขนส่งระหว่างประเทศและการขาดแคลนตู้สินค้า และเงินบาทแข็งค่า