ในบริบทของโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้ทุกธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด นอกจากการแข่งขันกับคู่แข่งเดิมในตลาดแล้ว ยังต้องเตรียมพร้อมต่อการเผชิญกับคู่แข่งรายใหม่ๆ ด้วย นวัตกรรมจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการสร้างความแตกต่างและจุดเปลี่ยนให้กับธุรกิจ หากผู้ประกอบการพร้อมจะปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และมีไหวพริบในการนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ก็จะมีโอกาสขยายตลาดหรือ “แจ้งเกิด” ได้ เมื่อเร็วๆ นี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดสัมมนา “นวัตกรรมทำหนึ่ง…ได้สิบ” เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีสากล ให้ผู้ประกอบการ SME ไทย
นางสาวพิมพ์มาดา พัฒนปรัชญาพงศ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์สินค้าอาหาร Okusno (คางกุ้งทอดกรอบ) เล่าว่า “จากจุดเริ่มต้นของการเห็นส่วนใต้หัวของกุ้งที่ถูกคัดทิ้งระหว่างรับประทาน จนเกิดไอเดียอยากนำมาพัฒนาเป็นของขบเคี้ยว ออกเดินทางสู่สมุทรสาครเพื่อหาผู้ที่จะคัดเฉพาะส่วนคางกุ้งให้ ทดลองผลิตภัณฑ์จนสามารถบรรจุใส่ซองเพื่อจำหน่าย ด้วย 3 กลยุทธ์หลักคือ
- สร้างคาแรคเตอร์ให้สินค้า ชูความเป็นเจ้าแรก
- พัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำอย่างศูนย์การค้าพารากอน เพราะตั้งเป้าจับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
- ศึกษาตลาดจนพบว่าจะต้องให้ลูกค้าได้ทดลองชิมรสชาติสินค้าให้ได้ เพราะคางกุ้งเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น ลูกค้ายังไม่รู้จัก
จากการทดลองชิมและการไปแข่งขันในรายการ SME ตีแตกจนเป็นผู้ชนะ ทำให้สินค้าไต่อันดับชั้นวางสินค้าขึ้นมาอยู่จุดระดับเดียวกับสายตาผู้ซื้อ นับจากจุดเริ่มต้นจนถึงทุกวันนี้เป็นเวลา 4 ปีครึ่ง ที่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย ตอบโจทย์ที่ลูกค้าต้องการ ปรับเปลี่ยนปริมาณผลิตภัณฑ์เพื่อให้ไม่มากไม่น้อยเกินไปแต่เหมาะสมกับราคา เลือกทำการตลาดทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์เพราะเป็นสินค้าที่จับกลุ่มลูกค้าในวงกว้าง จึงต้องสร้างการรับรู้ทุกช่องทาง แต่เลือกให้สื่อสารให้เหมาะสม ในยุค 4.0 เช่นนี้
“ความเสี่ยงที่น่ากลัวที่สุดคือความไม่ยอมเสี่ยง วันหนึ่งที่ตัดสินใจทำอะไร หลังจากพิจารณาโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและมั่นใจว่าสินค้าตอบ Pain Point ลูกค้าได้แล้วต้องตั้งใจทำ ต้องมีความมุมานะ ดูแลให้ดี ให้สินค้าเติบโต ใส่ใจมากที่สุดจนกว่าจะมั่นใจจริงๆ ว่าอยู่ในตลาดได้ เพราะธุรกิจสามารถโตภายใน 7 วันแต่ก็ล้มได้ใน 7 วันเช่นกัน” พิมพ์มาดา กล่าว
ม.ล.คฑาทอง ทองใหญ่ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศต่างๆทั่วโลก มีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเทคโนโลยี สภาพสังคมที่ครอบครัวมีขนาดเล็กลง พลเมืองโลกมีการศึกษาและมีอาชีพที่มั่นคงมากขึ้น แนวโน้มการใช้ชีวิตแบบคนเมืองขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ชนชั้นกลางและผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ในปี 2030 จะมีประชากรโลกเป็นผู้สูงอายุสูงถึง 1.4 พันล้านคน และเพิ่มเป็น 2.1 พันล้านคนในปี 2050 ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ลักษณะการใช้ชีวิตของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคมีความเป็นปัจเจกบุคคลสูงและมีความต้องการสินค้าและบริการที่มีความเฉพาะตัว และซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งมีอยู่ทั่วโลกนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องรู้จักการนำนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างจุดแข็ง จุดยืนที่เป็นเอกลักษณ์ มีความแตกต่างจากคู่แข่งขัน เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของธุรกิจที่ต้องผ่านกระบวนการคิดเพื่อ “ทำน้อย แต่ได้มาก”