สำเร็จ! ม.รังสิตพัฒนาสารสกัดกัญชาพ่นช่องปากลดปวดมะเร็ง

3166

เภสัชฯ ม.รังสิต วิจัยและพัฒนาตำรับสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปากจากสารสกัดกัญชา สำเร็จ วอน คสช.ปลดล็อก-อย.อนุญาตใช้กับคนเพื่อทำการวิจัยต่อไปได้

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วิจัยและพัฒนาตำรับสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปากจากสารสกัดกัญชา สำเร็จแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับการขอขึ้นทะเบียนต่อไป

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า คณบดีและคณาจารย์ นักวิจัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวอย่างซึ่งสกัดจากกัญชา โดยกระบวนการสกัดสารสำคัญใช้ตัวทำละลายและเทคนิคพิเศษที่ทันสมัย จนได้สารสกัดเพื่อนำมาใช้เตรียม “ตำรับสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปากจากสารสกัดกัญชา (Formulation Development of Oromucosal Spray from Cannabis Extract)”  ทั้งนี้เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วย โดยเน้นไปที่การบำบัดรักษาอาการปวดปลายประสาทในโรคปลอกประสาทอักเสบ (Multiple Sclerosis) และอาการปวดจากโรคมะเร็ง ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด เป็นการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยอีกทางหนึ่ง

“สำหรับผลิตภัณฑ์นี้มุ่งเน้นไปที่การบำบัดอาการปวดจากโรคมะเร็ง ซึ่งมีอุบัติการณ์การเกิดโรคในประเทศไทยค่อนข้างมาก เพื่อลดอาการข้างเคียงเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด นับว่าเป็นการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับการขอขึ้นทะเบียนต่อไป” อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเสริม

ดร.อาทิตย์กล่าวต่อไปอีกว่า มะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย โดยปีหนึ่งมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งประมาณ 70,000-80,000 คน โดยวิธีรักษาปัจจุบันจะใช้วิธีเคมีบำบัด ซึ่งวิธีนี้จะทำลายเซลล์ที่ดีไปด้วย ส่งผลข้างเคียงต่อชีวิตผู้ป่วย ทั้งนี้ จากการวิจัยพบว่าสารสกัดกัญชานี้จะทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งเท่านั้น หากมีการวิจัยในคนได้จะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน ซึ่งถ้าสำเร็จจะช่วยชีวิตคนที่เป็นมะเร็งได้มาก ทั้งนี้ อยากจะให้ทาง อย. ปลดล็อกให้นำมาทดลองใช้วิจัยกับคนได้เพื่อประโยชน์ต่อไป

นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ กล่าวว่า สำหรับการขอขึ้นทะเบียนนั้นทางมหาวิทยาลัยได้ขอเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ไม่ใช่ขอเพื่อการเสพอย่างเสรี ซึ่งอยากจะให้ทาง คสช. ใช้ม.44 ในการปลดล็อกที่จะนำมาใช้กับคนได้เพื่อนำไปสู่การวิจัยในคน ทั้งนี้ จากงานวิจัยทั่วโลกบอกว่ามีโอกาสรักษามะเร็งได้ และนอกจากนี้กัญชาที่นำมาสกัดไม่เพียงพออีกทั้งยังมีคุณภาพไม่ดีมาก ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยจึงได้มีการขอพื้นที่ในการเพาะปลูกกัญชาในระบบปิดเพื่อให้ได้กัญชาที่มีคุณภาพที่ดีอีกด้วย ซึ่งขณะนี้ได้มีการขอให้มีการแก้ พ.ร.บ.ยาเสพติด ให้เปลี่ยนกัญชาจากยาเสพติดประเภทที่5 เป็นประเภทที่ 2  เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ซึ่งได้ผ่านกฤษฎีกาไปแล้ว เหลือขั้นตอน สนช.พิจารณา คาดว่าจะใช้เวลาและการพิจารณากฎหมายอีกหลายตัว

ด้านนักวิจัย เภสัชกรหญิง วรวรรณ สายงาม อาจารย์ประจำศูนย์วิจัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า สืบเนื่องมาจากโครงการแรกที่มีการสกัดสารให้ได้สารสำคัญปริมาณสูงมาแล้ว จะนำมาคำนวณเพื่อให้ทราบขนาดยาที่ใช้ในการรักษา โดยเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์รูปแบบสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปากที่สกัดจากพืชกัญชาที่มีจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ไม่มีใช้ภายในประเทศไทย เนื่องจากกัญชา จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตาม พรบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และไม่มีการอนุญาตให้นำมาใช้ในทางการแพทย์  เบื้องต้นหวังผลเกี่ยวกับอาการปวดจากโรคมะเร็ง ซึ่งมีส่วนช่วยในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาแผนปัจจุบัน

คณบดีและคณาจารย์ นักวิจัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวอย่างซึ่งสกัดจากกัญชา โดยกระบวนการสกัดสารสำคัญใช้ตัวทำละลายและเทคนิคพิเศษที่ทันสมัย จนได้สารสกัดเพื่อนำมาใช้เตรียม “ตำรับสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปากจากสารสกัดกัญชา (Formulation Development of Oromucosal Spray from Cannabis Extract)”  เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วย โดยเน้นไปที่การบำบัดรักษาอาการปวดปลายประสาทในโรคปลอกประสาทอักเสบ (Multiple Sclerosis) และอาการปวดจากโรคมะเร็ง ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด เป็นการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยอีกทางหนึ่ง

ด้านนักวิจัย กล่าวว่า เหตุผลที่เลือกเป็นสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปาก เนื่องจากเมื่อเราฉีดพ่นสเปรย์เข้าไปสัมผัสกับเยื่อบุในช่องปาก ตัวยาสามารถดูดซึมได้ทันที ซึ่งแตกต่างจากยารับประทาน หากเราทานยาลง ตัวยาหรือสารสำคัญจะถูกสารในร่างกายทำลายได้ ดังนั้น ข้อดีที่เด่นชัดของยารูปแบบนี้คือ ตัวยาจะไม่ถูกทำลายที่ตับและออกฤทธิ์ได้เร็วกว่า

การศึกษาวิจัยเพื่อทดสอบฤทธิ์ของสารกัญชาต่อมะเร็งทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง มีการตีพิมพ์เผยแพร่ในหลายประเทศ นอกจากนี้สารสกัดกัญชา, สาร ∆9-THC และสาร CBD ยังได้รับการยอมรับทางการแพทย์เพื่อนำมาใช้ลดอาการปวด อาการคลื่นไส้อาเจียน อาการแพ้จากการได้รับยาเคมีบำบัด ได้มีการจดทะเบียนและอนุญาตให้ใช้ได้ในหลายประเทศ โดยสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปากจากสารสกัดกัญชา มีองค์ประกอบของสาร ∆9-THC และสาร CBD ซึ่งอาจมีผลลดมะเร็งได้ จึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

ทั้งนี้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตได้ทำการศึกษาวิจัยผลของสาร ∆9-THC  จากกัญชาต่อเซลล์มะเร็งทางเดินน้ำดีในหลอดทดลอง ผลการวิจัยสรุปว่าสาร ∆9-THC มีฤทธิ์ลดการเจริญเติบโตและลดการลุกลามของเซลล์มะเร็งทางเดินน้ำดี  ซึ่งใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาฤทธิ์ของสาร ∆9-THC ต่อการยับยั้งมะเร็งทางเดินน้ำดีในสัตว์ทดลองและในมนุษย์ต่อไป การวิจัยนี้ได้เผยแพร่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ เมื่อปี ค.ศ. 2009 จึงได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อศึกษาฤทธิ์และการพัฒนาตำรับของสาร ∆9-THC จากกัญชา

สำหรับผลิตภัณฑ์นี้มุ่งเน้นไปที่การบำบัดอาการปวดจากโรคมะเร็ง ซึ่งมีอุบัติการณ์การเกิดโรคในประเทศไทยค่อนข้างมาก เพื่อลดอาการข้างเคียงเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด นับว่าเป็นการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับการขอขึ้นทะเบียนต่อไป

“อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้เราคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ป่วยมะเร็งเป็นหลัก เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วย สามารถลดอาการปวดจากภาวะโรค เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งทุกวันนี้มีผู้ป่วยมะเร็งที่ทดลองใช้กัญชาเพื่อลดอาการปวดของตนเองอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มีการควบคุมขนาดยาที่เหมาะสม การใช้ขนาดยาที่ไม่เหมาะสมหรือไม่สม่ำเสมออาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย ดังนั้น การที่เรามีผลิตภัณฑ์ที่สามารถควบคุมขนาดยาได้ ก็สามารถรับรองในระดับหนึ่งได้ว่าขนาดยานี้ปลอดภัยกับผู้ป่วย สามารถลดอาการปวดได้จริง อย่างไรก็ตาม ถ้าตำรับนี้ให้ผลดีก็จะพัฒนาตำรับรูปแบบอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น อาทิเช่น รูปแบบยาที่ปลดปล่อยแบบควบคุม พัฒนาตำรับยาออกฤทธิ์นาน เพื่อสะดวกในการบริหารยาแก่ผู้ป่วย และเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ ในอนาคตคาดว่าจะจดอนุสิทธิบัตรผลงานในโครงการนี้ด้วย”  ภญ.วรวรรณ กล่าวเพิ่มเติม

 

รายงานโดย ภีระ ไกรแสงศรี