ส่งออก ‘อียู’ อาจสะดุด ถ้าผิด พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

1755

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบแก้ไขร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. … ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เสนอ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.นี้ เป็นกฎหมายที่จะสามารถดูแล และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิส่วนตัว โดยเฉพาะการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปหาประโยชน์ หรือเปิดเผยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลนั้น ทั้งเพื่อประโยชน์ทางการค้า หรือเพื่อประโยชน์ในการนำข้อมูลไปใช้ในลักษณะต่างๆ เช่น การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล บัญชีผู้ใช้ หรือรหัสผ่าน ไปทำธุรกรรมต่างๆ แทนเจ้าของตัวจริง

ขณะเดียวกัน กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (EU) หรือ General Data Protection Regulation: GDPR ก็ได้มีผลบังคับใช้แล้วเช่นกัน แม้จะยังไม่ชัดเจนว่ารูปแบบการบังคับตามกฎหมายดังกล่าวนอกเขต EU จะมีวิธีการอย่างไร แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทยได้ เพราะหากไม่มีมาตรการที่เพียงพอ อาจะเกิดการห้ามส่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่เกี่ยวข้อง และส่งผลให้เกิดความติดขัดในการดำเนินธุรกิจที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมได้

นางสุรางคณา  วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)  กล่าวว่า  “การที่ประเทศไทย ได้มีกฎหมายเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากจะแสดงถึงการมีมาตรฐานเทียบเท่าสากลแล้ว ยังลดอุปสรรคทางการค้า การลงทุน และสามารถพัฒนาประเทศให้มีความเข้มแข็ง และต่อสู้กับเวทีโลกได้ ซึ่งภายใต้กฎหมายนี้ จะมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ และพร้อมปกป้องสิทธิของประชาชน ตลอดจนช่วยดูแลประชาชนจากการถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นได้อย่างคล่องตัวและรวดเร็วด้วย”

ทั้งนี้ ETDA ได้เตรียมพร้อมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนัก ในการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลให้ประชาชน ผ่านศูนย์การเรียนรู้ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection Knowledge Center: DPKC) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมการเรียนรู้ ให้แก่หน่วยงาน องค์กร และประชาชนด้วย โดยศูนย์ DPKC ได้เปิดให้บริการแล้ว และสามารถสอบถามเข้ามาที่ ETDA โทร. 02 123 1234 ต่อ ศูนย์ DPKC