หลักสูตรวิศวกรรมการเงิน สจล. ครั้งแรกการศึกษาไทย

1525

ทราบหรือไม่ว่า เศรษฐกิจอาเซียนมีขนาดใหญ่และมีความสำคัญมากในภูมิภาคเอเชีย จากข้อมูลในการประชุมมุมมองอาเซียน (ASEAN Outlook Conference) ณ ประเทศสิงคโปร์ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจอาเซียนเติบโต 30 เท่า ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก และคาดว่าจะพัฒนาไปถึงอันดับ 4 ของโลกในเร็วๆ นี้ หากมองกว้างขึ้นในระดับโลกในขณะนี้ ธุรกิจชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์วอลสตรีท ที่มีมูลค่าจริงตามตลาด หรือ มาร์เก็ตแคป (Market Cap) สูงสุด 4 อันดับล้วนแล้วแต่เป็นธุรกิจด้านวิศวกรรมเทคโนโลยี โดยไมโครซอฟ (Microsoft) ครองแชมป์มาร์เก็ตแคปสูงสุด ตามมาด้วย แอปเปิล (Apple) แอมาซอน (Amazon) และอัลฟาเบท (Alphabet Inc.) หรือ กูเกิล (google) ที่เราคุ้นเคยกันในชีวิตประจำวัน ลู่ทางมากมายในการสร้างเงินในภูมิภาคอาเซียนผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ซึ่งน้องๆ อาจเป็น บิล เกตส์ แห่งอาเซียนคนแรกได้ หากน้องรู้ทริคการนำเทคโนโลยีมาจับธุรกิจ

ดร.นัทธพงศ์ จึงธีรพานิช ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า เทคโนโลยีถูกแทรกซึมเข้าไปในทุกธุรกิจไม่ว่าจะเป็นรูปแบบดั้งเดิมหรือรูปแบบดิจิทัล ภาคการเงินก็เช่นกัน การเข้ามาของเทคโนโลยีตั้งแต่ยุคแรกเริ่มที่มีการใช้ “เอทีเอ็ม (ATM)” นับเป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในอดีต ที่ทำให้ทุกคนรู้ว่าเทคโนโลยีพร้อมจะดิสรัปชั่นทุกคน ปัจจุบันนี้การดิสรัปชั่นของเทคโนโลยีมันไปไกลเกินกว่าที่เราจะหยุดไว้ได้ เช่น การเกิดขึ้นของกองทุน ETF (Exchange Traded Fund) หรือ กองทุนรวมเพื่อการซื้อขายหุ้น ที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงการลงทุนในตลาดหุ้นได้มากขึ้น สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ที่เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญการซื้อขายในตลาดเงิน เป็นต้น

ทั้งหมดนี้หนึ่งในผู้ที่จะมีบทบาทสำคัญอยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ คือ “วิศกรการเงิน (Financial Engineer)” ที่จะสร้างดิสรัปเตอร์ทางการเงินเปลี่ยนแปลงตลาดทุนไทยใหม่สู่ภูมิภาคได้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มีเป้าหมายในการปั้นวิศวกรการเงินขึ้น จึงได้ร่วมกันเปิดหลักสูตรวิศวกรรมทางการเงิน ปริญญาตรีควบโท หลักสูตรนานาชาติ ครั้งแรกของประเทศไทย การเรียนการสอนผ่านผู้เชี่ยวชาญในด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดย สจล. และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการธนาคาร โดย นิด้า พร้อมพาร์ทเนอร์ด้านการเงินการธนาคารและสถาบันการศึกษายักษ์ใหญ่ ทั้งในและต่างประเทศ โดยหลักสูตรดังกล่าวมีความพิเศษ ได้แก่

  1. เรียนการเงินควบคู่วิศวะ สองศาสตร์ที่ผสมผสานอย่างลงตัว

วิศวกรรมการเงินนั้น เป็นการผสมผสานศาสตร์หลักๆ ข้ามสาขา คือ ศาสตร์ด้านเศรษฐการเงิน และศาสตร์ด้านวิศวกรรม สิ่งที่สำคัญไปกว่าการเรียนรู้จุดแข็งของแต่ละศาสตร์แล้ว คือการผสมผสานศาสตร์เหล่านั้นออกมาอย่างกลมกลืน ซึ่งวิศวกรการเงินจำเป็นจะต้องมีมุมมองการมองโลกที่เชื่อมโยงกัน ยิ่งไปกว่านั้นจะต้องมีความรู้ที่มากกว่าทักษะที่ใช้ในการสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น ทักษะด้านกฎหมาย ทักษะการจัดการความเสี่ยง ทักษะด้านภาษา ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้วิศวกรการเงินจะได้เรียนรู้ตลอดระยะเวลา 5 ปีของหลักสูตร เพื่อเตรียมความพร้อมในการออกไปสู่โลกแห่งการทำงานจริง พร้อมสกิลการวิเคราะห์ข้อมูล การออกแบบและเขียนโปรแกรม การออกแบบกลยุทธ์การลงทุน ผ่านเทคโนโลยีในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงิน

  1. ฝึกปฏิบัติเข้มข้น ทฤษฎีถึงแก่น

การเรียนการสอนหลักสูตรวิศวกรการเงิน เน้นสร้างดิสรัปเตอร์ทางการเงินผ่านวิธีคิดในเชิงปฏิบัติ หรือ Practical Mind เพื่อสร้างนวัตกรรมทางการเงินที่แตกต่างบนพื้นฐานของทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติอย่างเข้มข้น ทั้งนี้ โลกการเงินในอนาคตอันใกล้ จะกลายเป็นโลกที่ไร้พรมแดนและปราศจากข้อจำกัด นวัตกรรมทางการเงินจึงมีรูปแบบที่หลากหลายขึ้น ซึ่งนักศึกษาจะได้ฝึกคิดและลงมือปฏิบัติในการสร้างสรรค์ระบบวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบเอไอ (AI Learning) การใช้ระบบปฏิบัติการเครือข่ายการลงทุนในโลกดิจิทัลสำหรับธุรกิจ (Cisco Digital Network Architecture System) ผ่านการเรียนการสอนและทำวิจัยกับทีมคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากทั้งสองสถาบัน และเมื่อน้องๆ เข้ามาเป็นนักศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมการเงินแล้วจะสามารถสามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกของทั้งสองสถาบันได้ตั้งแต่การเรียนในปีแรก ไม่ว่าจะเป็น ห้องสมุด ยิม สนามกีฬา อุปกรณ์อินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

  1. ตรีควบโท ด้านวิศวกรรมการเงินหนึ่งเดียวของไทย

การสร้างนักปฏิวัติทางการเงินนั้นย่อมไปธรรมดาแน่นอน หลักสูตรออกแบบมาเพื่อผู้กล้าที่จะสร้างนวัตกรรมทางการเงิน ผ่านการฝึกฝนที่เข้มข้นทั้งศาสตร์ด้านการเงินและการวิเคราะห์ข้อมูล ร่วมกับวิศวกรรมศาสตร์และคอมพิวเตอร์ ในการสร้างดิสรัปเตอร์ทางการเงินจูเนียร์ขึ้นมาปฏิวัติวงการการเงิน โดยหลักสูตรนี้เป็นการเรียนการสอนแบบอินเตอร์ 5 ปี ตรี – โท (Double Degree Program in Financial Engineering) สองสถาบัน คือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่ขึ้นชื่อด้านวิศวกรรมศาสตร์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กับจุดแข็งทางด้านเศรษฐกิจการเงิน นอกจากนี้ น้องๆ จะได้ฝึกงานกับพาร์ทเนอร์ในตลาดทุนขนาดใหญ่ สตาร์ทอัพฟินเทค สถาบันทางการเงินชั้นนำ รับรองว่าน้องๆ ที่สมัครและผ่านการคัดเลือกในหลักสูตรนี้ มีโปรไฟล์เท่ไม่แพ้วิศวกรการเงินที่ไหนในโลกอย่างแน่นอน

  1. พาร์ทเนอร์ยักษ์ใหญ่ ต่อยอดการเรียนรู้

หลักสูตรวิศวกรรมการเงิน เป็นหลักสูตรที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสองสถาบันคือ สจล. และนิด้า ซึ่งทั้งสองสถาบันมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกมากมาย เช่น มหาวิทยาลัยโตไก Tokai University ประเทศญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยจอร์เจีย The University of Georgia สหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยอินเดียนา Indiana University ประเทศสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย University of California ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น โดยหลักสูตรนี้ น้องๆ สามารถวางแผนในการไปศึกษาต่อสถาบันการศึกษาต่างประเทศในเครือข่าย รวมทั้งการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และทักษะต่างๆ ในด้านดังกล่าวบนความร่วมมือของพาร์ทเนอร์สองสถาบัน

  1. เส้นทางอาชีพมั่นคง ตอบรับการเปลี่ยนแปลง

ในโลกที่ทุกคนสามารถแสวงหาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้อย่างเสรีนั้น การเป็นดิสรัปเตอร์ย่อมแสดงให้เห็นถึงโอกาสในการกระโดดเข้าไปเป็นเจ้าแห่งตลาดทางการเงิน หลักสูตรนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่โลกตลาดทุน บนการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดบนพื้นฐานการบูรณาการข้อมูล (High Understanding High Return) โดยวิศวกรทางการเงินจะเป็นคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินและเป็นนักปฏิวัติทางการเงิน (Financial Disrupter) ที่สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับน้องๆ ได้ ภายใต้การยึดมั่นในจรรยาบรรณของวิชาชีพและสุจริต และเมื่อน้องๆ สำเร็จการศึกษาจะมีสายงานรองรับมากมาย เช่น สถาบันการเงิน ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาด้านการเงิน บรรษัททางการเงินข้ามชาติ สตาร์ทอัพด้านฟินเทค (Fintech) เป็นต้น

สำหรับน้องๆ ที่ยังลังเลไม่แน่ใจว่าจะสมัครเรียนคณะไหน หรือสมัครวิศวกรรมสาขาไหนดี สาขาวิศวกรรมการเงินนี้อาจจะช่วยตอบโจทย์น้องๆ ที่มีความสนใจทั้งด้านวิศวกรรมศาสตร์และด้านการเงินการลงทุนได้ ทั้งนี้ หลักสูตรวิศวกรรมการเงิน จะเปิดรับสมัครในวันที่ 17 – 29 เมษายน 2562 (TCAS รอบ 3) ที่ www.reg.kmitl.co.th โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 เว็บไซต์ www.kmitl.ac.th หรือ www.facebook.com/kmitlnews