อินโดรามา เวนเจอร์ส ปลุกกระแสแฟชั่นรักษ์โลก ชวนดีไซเนอร์รุ่นใหม่จุดไอเดียฟื้นชีพวัสดุรีไซเคิลสู่แฟชั่นสไตล์สตรีท เดินหน้าโครงการ “RECO Young Designer Competition 2020” (รีโค่) ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 9 ท้าไอเดียดีไซเนอร์รุ่นใหม่ อายุระหว่าง 17-35 ปี ร่วมประกวดออกแบบแฟชั่นเพื่อความยั่งยืน ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘REVIVE: Start from Street’ ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 5 แสนบาท พร้อมจัดเวิร์คช็อป eco-design เรียนรู้และพัฒนาผลงานโดยได้รับคำแนะนำจากมืออาชีพ เปิดรับผลงานตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2563
นายยาช โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล ผู้นำด้านเคมีภัณฑ์ระดับโลก กล่าวว่า “อินโดรามา เวนเจอร์ส ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม เราเชื่อมั่นว่าการรีไซเคิลเป็นหนึ่งในทางเลือกที่มีความรับผิดชอบสูงสุดในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2554 จนถึงต้นปีที่ผ่านมา ไอวีแอลได้นำขวดพลาสติก PET ใช้งานแล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลไปแล้วกว่า 50,000 ล้านขวด หรือคิดเป็นน้ำหนักมากถึง 750,000 ตัน เพื่อแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติก เส้นด้าย และเส้นใย PET รีไซเคิล ที่สามารถนำไปใช้งานได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งรวมไปถึงอุตสาหกรรมแฟชั่น ไอวีแอลยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจรีไซเคิลอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความรู้เรื่องการรีไซเคิลและการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง PET ซึ่งเป็นวัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ 100% โดยรีโค่เองก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้สังคมได้ตระหนักถึงคุณค่าของการรีไซเคิลวัสดุให้สามารถนำกลับมาใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน”
ด้านนางอาราธนา โลเฮีย ชาร์มา รองประธาน ในฐานะประธานโครงการ RECO Young Competition Designer กล่าวว่า “รีโค่เป็นโครงการประกวดออกแบบอัพไซคลิ่ง (upcycling) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งไอวีแอลได้จัดขึ้นต่อเนื่องจนย่างเข้าสู่ปีที่ 9 โดยริเริ่มแนวคิดมาจากหลัก 3R คือ Reduce – ลดการใช้ Reuse – ใช้ซ้ำ และ Recycle – นำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งหนึ่งในความตั้งใจที่สำคัญของโครงการรีโค่คือการสร้างแรงบันดาลใจและความตระหนักรู้ให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของพลาสติก PET และเส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว เมื่อเราเปลี่ยนความคิดและมุมมองที่มีต่อวัสดุเหล่านี้ ไอเดียใหม่ๆก็จะเกิดขึ้น สร้างสรรค์เป็นผลงานแฟชั่นที่สวมใส่ได้ทั้งในโอกาสพิเศษและชีวิตประจำวัน โดยกระแสตอบรับของโครงการในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมาถือว่าน่าพอใจมาก มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการรวมแล้วกว่า 3,000 ชิ้น จากดีไซเนอร์กว่า 2,000 คน โดยผู้เข้าร่วมประกวดในแต่ละปีจะได้เรียนรู้ความสำคัญของการรีไซเคิลที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม และได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นในการนำวัสดุรีไซเคิลมารังสรรค์ผลงาน ซึ่งไอวีแอลหวังว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการขยายแนวคิดแฟชั่นที่ยั่งยืน หรือ sustainable fashion และการใช้วัสดุรีไซเคิลให้เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น”
ด้าน นายริชาร์ด โจนส์ รองประธานบริหารอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร กล่าวว่า โจทย์ของรีโค่ปีนี้จะท้าทายไอเดียของดีไซเนอร์รุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น ภายใต้คอนเซ็ปต์ “REVIVE: Start from Street” หรือการฟื้นคืนชีพสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วให้เป็นเสื้อผ้ารักษ์โลกที่สวมใส่ได้ง่ายแต่ยังคงมีสไตล์ตามแบบสตรีทแฟชั่น โดยต้องนำเส้นใยโพลีเอสเตอร์เหลือใช้ ผ้าที่ทอจากเส้นด้ายที่ผลิตจากการรีไซเคิล PET หรือวัสดุใช้งานแล้วอื่นๆ อย่างน้อย 60% มาสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งนี้ ผลงานของผู้ประกวดจะต้องสะท้อนไอเดียออกมาใน 3 ชุดด้วยกัน คือ ชุดที่สะท้อนแนวคิดหลัก (concept design) จำนวน 1 ชุดและอีก 2 ชุด ที่พัฒนาต่อยอดให้สวมใส่ง่ายได้จริงในชีวิตประจำวัน พร้อมเครื่องประดับและรองเท้าเข้าชุดกัน
สำหรับผลงานจากผู้ส่งเข้าประกวดรอบแรกจะถูกคัดเลือกให้เหลือเพียง 30 ผลงาน เพื่อเข้าร่วมเวิร์คช็อป eco-design โดยกูรูในแวดวงแฟชั่นและการออกแบบ เพื่อเพิ่มองค์ความรู้และทักษะในการออกแบบและใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ให้เหมาะสม อาทิ อาจารย์เล้ง-อดิศักดิ์ โรจน์ศิริพันธ์ คุณเอ็กซ์-ธณัฐญกรณ์ ฤทธิธำรงค์พัฒน์ และคุณอุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี จากนั้น 10 ผลงานสุดท้ายจะถูกคัดเลือกเพื่อนำไปตัดเย็บเป็นดีไซน์คอลเล็คชั่นสำหรับการแสดงแฟชั่นโชว์ในรอบสุดท้าย ซึ่งจะจัดขึ้นที่ไอคอนสยาม ในต้นปี 2564 ทั้งนี้ ผู้ชนะการประกวดจะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท 50,000 บาท และ 30,000 บาท ตามลำดับ พร้อมทั้งโอกาสในการร่วมสร้างสรรค์ผลงานกับสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด นักเรียน นิสิต นักศึกษา ดีไซเนอร์อิสระ และผู้ที่สนใจร่วมประกวดโครงการ RECO Young Designer 2020 สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.indoramaventures.com/th/reco และ www.facebook.com/recoyoungdesigner หรือติดต่อที่อีเมล reco@indorama.net และโทร. 093-249-3546