เครื่องถม-ย่านลิเภา หัตถศิลป์ร่วมสมัย

4633

ศิลปหัตถกรรม มีความเกี่ยวพันกับการดำรงชีวิตของมนุษย์  ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและเชื่อมโยงไปสู่โลกอนาคต เพราะชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์เรา ต้องสัมพันธ์กับสิ่งของ เครื่องใช้ต่างๆ  ซึ่งล้วนแต่เป็นประดิษฐกรรมที่มนุษย์ผู้สร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในชีวิตประวัน งานศิลปหัตถกรรม จึงเป็นดังกระจกที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละยุคสมัย บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ สภาพความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ถ่ายทอดผลงานที่ทรงคุณค่า สืบทอดความเป็นมาจากรุ่นสู่รุ่น พัฒนาให้เข้ากับยุคสมัยแต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ และความงดงามของผลงานที่ยังคงคุณค่า อนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเพื่อสานต่อสืบไป  งาน Crafts Bangkok 2018 ที่ผ่านมา ได้รวบรวมเหล่าบรรดาครูช่างและทายาทครูช่างทุกแขนง เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและเรียนรู้

คุณสรภัทร สาราพฤษ ผู้สืบทอดงาน “เครื่องถม” ในฐานะที่เป็นผู้สืบทอดงานศิลปหัตถกรรรม อยากให้คนรุ่นหลังลองศึกษาให้รู้จักถึงประวัติความเป็นมา เรื่องราวที่อยู่คู่กับชาติไทยมาก่อน ค่อยๆ ศึกษาทีละนิดแล้วทุกคนก็จะซึมซับว่ากระบวนการเหล่านี้สามารถทำให้ผู้คนเข้าถึง ได้รู้จักอย่างลึกซึ้งแล้วจะสามารถเห็นคุณค่าได้อย่างแท้จริง  ทั้งนี้ งาน Crafts Bangkok 2018 ภายใต้แนวคิด Social Craft Network หรือ หัตถศิลป์ไร้พรมแดน มีส่วนช่วยส่งเสริมการต่อยอดคุณค่าของงานศิลปหัตถกรรมไทย สู่งานคราฟต์ร่วมสมัย สิ่งที่เห็นในงานครั้งนี้คือฐานลูกค้าและความต้องการของลูกค้าส่วนใหญ่ในสมัยนี้ต้องการเครื่องถมที่ไม่ได้โชว์อยู่ในพิพิธภัณฑ์หรือในตู้โชว์อีกต่อไป แต่ต้องการเครื่องถมที่สามารถใส่เดินออกไปได้ทุกที่ เชื่อมั่นว่าจะสามารถออกแบบเครื่องถมในรูปแบบใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประวันได้

ในขณะที่คุณนภารัตน์ ทองเสภี งานจักสานย่านลิเภาทายาทฯ ปี 57 กล่าวว่า อยากให้ทุกคนมองเห็นถึงคุณค่าของงานศิลปหัตถกรรมว่า กว่าจะมาเป็นหนึ่งชิ้นงานต้องอาศัยความละเอียด ความประณีต และความอดทนอย่างมากเพื่อให้ชิ้นงานที่ออกมานั้นมีคุณค่า น่าจดจำ ซึ่งงาน Crafts Bangkok 2018 ภายใต้แนวคิด Social Craft Network มีส่วนช่วยในการต่อยอดคุณค่าของงานหัตถกรรมอย่างมาก เพราะได้มีการออกแบบผสมผสานระหว่างงานจักสานย่านลิเภาและงานเครื่องถมทองซึ่งเป็นต้นกำเนิดจากนครศรีธรรมราชโดยตรง มาเป็นชิ้นงานใหม่โดยตัวกระเป๋าทำจากย่านลิเภา ส่วนที่จับหรือหูหิ้วนั้นทำจากเครื่องถมทอง นอกจากการพัฒนากระเป๋าจักสานจากย่านลิเภาแล้ว ยังพัฒนาย่านลิเภามาเป็นเครื่องประดับประเภทต่างหู โดยได้ร่วมมือกับทายาทเครื่องเงินจากสุโขทัย นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ได้จากการต่อยอดเพื่อส่งเสริมให้เกิดไอเดียความคิดสร้างสรรค์ และสร้างคุณค่าให้กับงานหัตถกรรมไทย ซึ่งนำไปสู่การพัฒนางานคราฟต์ให้ร่วมสมัยมากขึ้น

คุณเฉลิมเกียรติ สมดุลยาวาทย์ เจ้าของแบรนด์ COTH Studio กล่าวว่า อยากให้คนรุ่นใหม่ตระหนัก หวงแหน และอนุรักษ์ในงานศิลปหัตถกรรม ที่มีคุณค่านี้ไว้ เพราะงานศิลปหัตถกรรมเหล่านี้ได้บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ของคนรุ่นก่อน เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาเรียนรู้และนำมาพัฒนาต่อยอด งานหัตถกรรมที่มีคุณค่าต่อไป

แล้วพบกันอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2562  กับงาน Crafts Bangkok 2019