เปิดหลักสูตร Food Biz DIY ตอบโจทย์ 5 อาหารเทรนด์ใหม่ปี 62 เถ้าแก่อยากเรียน..ต้องได้เรียน!!!

1918

สถาบันอาหาร จับมือ สจล. ทำ MOU ชูนวัตกรรมพัฒนาธุรกิจอาหาร ปั้นหลักสูตร Food Biz DIY  ชี้แนวโน้มปี 62  Medicare Food มาแรง

สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ทำ MOU พัฒนาบุคลากรธุรกิจอาหารด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม  ประเดิมเปิดตัวหลักสูตร  Food  Biz DIY (Food Business Do it  Innovatively Yourself Program) หรือ “การพัฒนาธุรกิจอาหารด้วยความรู้องค์รวมด้านนวัตกรรมกระบวนการแปรรูปสู่ตลาดอาหาร และ Medicare Food”  หนุนผู้ประกอบการไทยให้มีศักยภาพการผลิต ตั้งเป้าเกิดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ไม่น้อยกว่า 1 ผลิตภัณฑ์ต่อหนึ่งกิจการของผู้เข้าอบรม  ชี้แนวโน้มอาหารปี 2562  Medicare Food    มาแรง ตลาดกว้าง กลุ่มเป้าหมายผู้รักสุขภาพทั่วโลกขยายตัวต่อเนื่อง

นายยงวุฒิ  เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาบุคลากรธุรกิจอาหาร ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ระหว่างสถาบันอาหาร และคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการพัฒนาบุคลากรในธุรกิจอาหารด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และร่วมมือกันถ่ายทอดองค์ความรู้ การบริหารจัดการ รวมทั้งการจัดกิจกรรมที่จะเอื้อต่อการพัฒนางานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของทั้งสองฝ่าย เบื้องต้นกำหนดเวลา 3 ปี โดยกิจกรรมแรกที่ทั้งสองหน่วยงานได้เริ่มจัดทำ ได้แก่ โครงการฝึกอบรมผู้บริหารระดับสูงในอุตสาหกรรมอาหารหลักสูตร Food Biz DIY (Food Business Do it  Innovatively Yourself Program)

“จากการศึกษาของสถาบันอาหาร ผ่านการวิเคราะห์แรงขับเคลื่อน (Driver) ของโลกใน 4 ด้าน ประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี พลวัตทางเศรษฐกิจ และวิกฤตสิ่งแวดล้อม พบ 5 แนวโน้มอาหารมาแรงที่ผู้บริโภคต้องการในปี 2562 ได้แก่ 1) MediCare Food เป็นอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับผู้ที่ต้องได้รับการดูแล ทั้งในสถานดูแล (Nursing Care) และในครัวเรือน (Home Care) อันสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่ทำให้มีผู้ที่ต้องการการดูแลระยะยาวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 2) Semi Healthy Food หรือ อาหารกึ่งสุขภาพ เป็นอาหารทางเลือกที่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ข้อจำกัดของอาหารเพื่อสุขภาพ (Healthy Food) ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นแต่มีข้อจำกัดด้านรสชาติและกฎระเบียบที่กำหนดให้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์บางรายการต้องได้รับการทดสอบทางวิทยาศาสตร์อย่างสมบูรณ์ ซึ่งอาจต้องใช้เวลานาน ทำให้บางครั้งไม่ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค 3) Advance Tech for Food หรือ เทคโนโลยีล้ำหน้าสำหรับธุรกิจอาหาร เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจอาหารเพื่อเปลี่ยนแปลงสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า แนวโน้มย่อยที่สำคัญในปีนี้ คือ Digital Food  4) Deli Food Localization หรืออาหารของแต่ละภูมิภาคพื้นถิ่นปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคยุคใหม่ ที่โหยหาหรือถวิลหารากเหง้าทางชาติพันธุ์ของตัวเอง ความดั้งเดิมของท้องถิ่นวัฒนธรรมชาติพันธุ์ที่สืบทอดกันมา แต่ปรับรูปแบบอาหารให้เหมาะกับความชอบและพฤติกรรมของผู้บริโภคตามยุคสมัย และ 5) Organic Plant-Based Food หรืออาหารอินทรีย์กลุ่มที่ผลิตมาจากพืช เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมโลกและสุขภาพของตัวเองควบคู่กัน ทั้งนี้ Medicare Food เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่น่าจับตามองมากที่สุดในปี 2562 นี้ ตลาดมีแนวโน้มเติบโตดี กลุ่มผู้รักสุขภาพขยายวงกว้างในหลายประเทศ  ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรให้ความสนใจยกระดับศักยภาพการผลิตเข้าสู่อุตสาหกรรมดังกล่าว”

รศ.ดร.ประพันธ์  ปิ่นศิโรดม คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร สจล. กล่าวว่า  แนวโน้ม Medicare Food มีแรงผลักดันสำคัญมาจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำให้ประชากรทั่วโลกมีอายุขัยโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ทำให้โลกในอนาคตจะเต็มไปด้วย “ผู้บริโภคที่ต้องได้รับการดูแล”  จึงมีความจำเป็นต่อการพัฒนารูปแบบสินค้าอุปโภคและบริโภคให้รองรับความต้องการพื้นฐานดังกล่าว เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์ Medicare food  หรือผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้ที่ต้องการได้รับการดูแล ครอบคลุมผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพชนิดต่างๆ เช่น health food, medical food, functional food และ nutraceutical food เป็นต้น

“สจล. ได้ร่วมกับสถาบันอาหาร ดำเนินการออกแบบหลักสูตร Food Biz DIY ที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการ โดยมีแนวคิด วิธีการ การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ โดยใช้แนวทางที่เป็นแบบ Construction Learning ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพในการดำเนินการจัดหลักสูตร ตลอดจนมีการให้คำปรึกษาและแนะนำอย่างใกล้ชิดจากวิทยากร และทีม Facilitators ของโครงการฯ และจัดกิจกรรมศึกษาดูงานและสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงเครือข่าย ซึ่งจะเริ่มจัดอบรมตั้งแต่กลางเดือน พ.ย. 2561 – ม.ค. 2562 ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดและสมัครได้ที่ฝ่ายส่งเสริมนวัตกรรม สถาบันอาหาร เราตั้งเป้าว่าผู้เข้าอบรมจะสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ไม่น้อยกว่า 1 ผลิตภัณฑ์ต่อหนึ่งกิจการ”

ศ.ดร.วราวุฒิ ครูส่ง ที่ปรึกษาหลักสูตร Food Biz DIY กล่าวว่า ธุรกิจอาหารกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่การวิจัยและพัฒนาให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคซึ่งมีหลากหลายมิติ  และตอบโจทย์ของตลาดซึ่งมุ่งหน้าสู่อาหาร Medicare Food ทำให้เกิดความจำเป็นที่ต้องอาศัยความรู้องค์รวมทั้งด้านกระบวนการแปรรูปใหม่ๆที่ช่วยรักษาคุณค่าของอาหาร  พร้อมทั้งการอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของอาหารทั้งด้านจุลินทรีย์-เคมีให้มีคุณภาพและสอดคล้องกับข้อบังคับ  รวมถึงการพัฒนามุมมองและแนวทางของการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับ มั่นใจว่าหลักสูตร Food Biz DIY สามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้อย่างแน่นอน