โควิด-19 พลิกโฉมแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารในเอเชีย

1108

สถาบันอาหาร เผยแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารในเอเชียเปลี่ยน ชี้โควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญ ผู้บริโภคต้องการอาหารที่มีนวัตกรรมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายรูปแบบต่างๆ  ส่วนอาหารพร้อมปรุง อาหารพร้อมรับประทาน อาหารที่มีอายุเก็บรักษานาน และอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและดีต่อสุขภาพมีอัตราเติบโตสูง  ผู้บริโภคเกิดพฤติกรรมการซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้านมากขึ้น เกิดกิจกรรมการปรุงอาหารรับประทานเองมากขึ้น และนิยมซื้อทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็น New Normal

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (Food Intelligence Center) สถาบันอาหาร ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคและอุตสาหกรรมอาหารในเอเชียช่วงสถานการณ์โควิด-19  พบว่า ผู้บริโภคมีความต้องการอาหารที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง ซึ่งจะเป็นโอกาสของแบรนด์ต่างๆ ในการสร้างสินค้านวัตกรรมที่จะช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันของโรคในอนาคต เช่น ผู้บริโภคเวียดนาม นิยมรับประทานกระเทียมดำ เพื่อช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย หรือผู้บริโภคฟิลิปปินส์ นิยมรับประทานผลิตภัณฑ์จากมะรุมและน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์มากขึ้น ส่วนผู้บริโภคสิงคโปร์มีความต้องการวิตามินซีและวิตามินรวมมากขึ้น 3-5 เท่า สำหรับในญี่ปุ่น โรงงานแปรรูปอาหารต่างๆ หันมาเน้นช่องทางค้าปลีกเพื่อผู้บริโภคโดยตรงมากกว่าป้อนช่องทางธุรกิจบริการอาหารต่างๆ อาหารที่มีอายุเก็บรักษานานมียอดขายเติบโดมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และเครื่องดื่ม เป็นต้น

ที่เกาหลีใต้ บริษัท CJ CheilJedang บริษัทชั้นนำเกาหลีใต้ด้านอาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ ได้เผยแพร่ผลงานวิจัย “2020 HMR Trend” หลังเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ว่าชาวเกาหลีใต้เน้นการประหยัดระยะเวลาในการเตรียมอาหาร โดยรับประทานอาหารที่บ้านมากขึ้นราวร้อยละ 83 ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับปีก่อน มีการสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอาหารพร้อมรับประทานที่เติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 46.4 เช่น สินค้าอาหารที่ใช้การทอดอย่างเดียว หรือที่ใช้ไมโครเวฟอุ่น รวมถึงสินค้า Meal Kit ที่ใช้วิธีปรุงแค่เทส่วนประกอบอาหารทั้งชุดลงไปในหม้อและต้มอย่างเดียว  ขณะเดียวกันยังเกิดพฤติกรรมรับประทานอาหารมื้อดึกหรือมือที่ 4 เพิ่มมากขึ้น เรียกว่า “4th Meal” อาหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ สินค้าไก่แช่แข็ง เช่น ไก่ทอด ไก่นักเก็ต นอกจากนี้ยังมีเกี๊ยวซ่าแช่แข็ง ไส้กรอก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวพร้อมรับประทาน ลูกชิ้น เบเกอรี่แช่แข็ง เป็นต้น โดยผู้บริโภคยังให้ความสำคัญเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ดีต่อสุขภาพแม้ว่าราคาจะสูงก็ตาม

ด้านบริษัทวิจัย Nielsen สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค 11 ประเทศในเอเชีย หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ผู้บริโภคร้อยละ 86 ในจีน จะรับประทานอาหารที่บ้าน รองลงมาคือ ฮ่องกง ร้อยละ 77 และมาเลเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ ร้อยละ 62  โดยพบว่ามูลค่าค้าปลีกอาหารในเอเชียมีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 20-25 ต่อสัปดาห์ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา

นางอนงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดอาหารในเอเชียมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นตลาดที่บ่มเพาะสินค้านวัตกรรมมากขึ้น วิถีชีวิตผู้บริโภคที่กลายเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร(Food Delivery) เติบโตขึ้น สถานการณ์โควิด-19 กำลังเปลี่ยนพฤติกรรมให้เกิดการซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านและเกิดกิจกรรมการปรุงอาหารรับประทานเองมากขึ้น เช่น ในญี่ปุ่นและไทย พฤติกรรมนี้จะกลายเป็นเรื่องปกติของวิถีการใช้ชีวิตแบบใหม่(New Normal) โดยเป็นการสั่งซื้อผ่านออนไลน์มากขึ้นด้วย

            “การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคทำให้ธุรกิจการให้บริการอาหาร ธุรกิจค้าปลีก และผู้ผลิตอาหารจำเป็นต้องปรับตัว และเมื่อมีสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่ง ผู้ประกอบการ แปรรูปอาหารยิ่งต้องปรับกลยุทธ์ของตนอย่างรวดเร็ว จึงจะตอบสนองทันต่อความต้องการ การสร้างช่องทางจำหน่ายแบบออนไลน์อย่างจริงจังกลายเป็นโอกาสของธุรกิจขนาดเล็กที่เข้าถึงได้ง่ายเพราะต้นทุนไม่สูง และต้องหาพันธมิตรมาช่วยเรื่องการจัดส่งสินค้า แต่สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือการสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ ในสถานที่ผลิต และการให้ข้อมูลผู้บริโภคเพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของอาหาร เชื่อว่าทุกคนจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้หากพร้อมปรับตัว”