5 กลุ่มสินค้าขยายตัวดีในเดือน ต.ค.มีอะไรบ้าง

1050

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนตุลาคม 2563 ขยายตัวร้อยละ 0.45 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สอดคล้องกันกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติ สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับระดับในช่วงก่อนหน้าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่ช่วยเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้แนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดย สศอ. ประมาณการเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมปี 2564 คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.0-5.0 ในขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.0-5.0

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมหลักที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคเป็นหลัก อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.10  อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.50  และอุตสาหกรรมถุงมือยางขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 30.28 ในขณะที่อุตสาหกรรมหลัก ๆ ที่เริ่มฟื้นกลับมาโดยขยายตัวอีกครั้ง เช่น อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.20 ตามการปรับฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระป๋องโลหะ โดยอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนตุลาคม ได้แก่

น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.45 เนื่องจากโรงกลั่นและบริษัทบางแห่งหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ในปีก่อน แต่ปีนี้มีการซ่อมบำรุงเพียงบางแห่งและเริ่มกลับมาผลิตตามปกติแล้ว

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.07 เนื่องจากความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยมีการเร่งผลิตและส่งมอบสินค้าหลังสถานการณ์ในต่างประเทศมีความไม่แน่นอนจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

แปรรูปและถนอมผลไม้และผัก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.98            จากผลิตภัณฑ์สับปะรดกระป๋อง เป็นหลัก เนื่องจากปีนี้มีการปลูกสับปะรดในหลายพื้นที่และเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าปีก่อน รวมถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.19 จากผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กลวด ท่อเหล็ก เหล็กเคลือบโครเมี่ยม และเหล็กเคลือบดีบุกเป็นหลัก เนื่องจากความต้องการที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยมและดีบุกที่เติบโตตามการบริโภคอาหารกระป๋อง ในขณะที่ปีก่อนความต้องการหดตัวตามสภาพเศรษฐกิจและผลกระทบจากเหล็กนำเข้าราคาถูก ทำให้ผู้ผลิตบางรายหยุดผลิต

เครื่องใช้ในครัวเรือน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.54 จากผลิตภัณฑ์ตู้เย็นและเครื่องซักผ้า โดยตู้เย็นมีความต้องการเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับได้มีผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตมาจากประเทศจีนตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 ในขณะที่เครื่องซักผ้าได้มีการทำโปรโมชั่นกระตุ้นตลาดและคำสั่งซื้อเพิ่มจากมาเลเซียและญี่ปุ่น