Borriboon Craft นวัตกรรมไม่ซับซ้อน แต่ต้องตอบโจทย์ลูกค้าได้

3815

 

ในบริบทของโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้ทุกธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด นอกจากการแข่งขันกับคู่แข่งเดิมในตลาดแล้ว ยังต้องเตรียมพร้อมต่อการเผชิญกับคู่แข่งรายใหม่ๆ ด้วย 

นายคมกฤช บริบูรณ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ Borriboon Craft เล่าถึงจุดเปลี่ยนของงานจักสานไทยในงานสัมมนา “นวัตกรรมทำหนึ่ง…ได้สิบ” เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีสากล ให้ผู้ประกอบการ SME ไทย จัดโดย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ว่า “แบรนด์บริบูรณ์นำงานจักสานไทยก้าวข้ามโครงสร้างที่บิดเบี้ยวของราคากลายเป็นรูปแบบที่แข็งแกร่งที่ทำให้ช่างฝีมือไทยและอุตสาหกรรมจักสานไทยอยู่ได้อย่างยั่งยืน จากการเป็นสมาชิกของศูนย์ส่งเสริมฝีมือการจักสานด้วยไม้ไผ่ พนัสนิคม จ.ชลบุรี เมื่อถึงจุดที่งานจักสานไทยที่ส่งออกไปต่างประเทศไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับประเทศอื่นอย่างจีนได้ จึงต้องมองหาตลาดใหม่ที่นำเอาภูมิปัญญาไทยเข้าไปแก้ Pain Point และตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้งาน ญี่ปุ่นเป็นตลาดเป้าหมายที่เข้าไปศึกษาพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิต ชาวญี่ปุ่นนั้นชื่นชอบงานสาน งานฝีมือ แต่ขณะเดียวกันช่างฝีมือญี่ปุ่นเองก็มีคุณภาพมาก ประเทศไทยจึงต้องผลิตชิ้นงานที่มีทั้งคุณภาพด้านฝีมือและมูลค่าเพิ่มด้านการใช้งาน อาทิ กล่องใส่อุปกรณ์ชงชา ที่จะต้องนำไปใช้ในช่วงเทศกาล หรืออาจจะผันไปเป็นกล่องใส่อุปกรณ์ตัดเย็บตามวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่น บางครั้งก็มีการร่วมมือกันระหว่างแบรนด์หรือโค-แบรนด์ดิ้ง (co-branding) เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้ราคาเทียบเท่าสินค้าแบรนด์เนม สิ่งเหล่านี้คือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ตลาดเป้าหมาย และเป้าหมายต่อไปคือยุโรปที่ต้องศึกษารูปแบบการใช้ชีวิต และพิจารณาว่าสินค้าของบริบูรณ์จะเข้าไปตอบโจทย์ด้านใดให้ลูกค้าได้บ้าง บางครั้งนวัตกรรมไม่ต้องซับซ้อนแต่ต้องตอบโจทย์สิ่งที่ลูกค้าต้องการให้ได้”

สุดท้ายแล้วโจทย์สำคัญของผู้ประกอบการ SME คือ รายได้ไม่คงที่ ในขณะที่ต้นทุนคงที่มีมากเกินไป ซึ่งต้องพยายามผลักให้เป็นต้นทุนตามยอดการสั่งซื้อมากที่สุด วันหนึ่งเมื่อธุรกิจดีขึ้นเรื่อยๆ ถึงจุดที่รองรับความต้องการตลาดในประเทศได้แล้ว จะต้องเริ่มออกสู่ตลาดสากล ออกไปแข่งขันในระดับที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น นวัตกรรมจึงมีส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่เกิดใหม่ แต่ต้องสร้างความแตกต่าง ตอบโจทย์และแก้ Pain Point ของกลุ่มเป้าหมายได้ เพื่อทำให้สินค้าสามารถอยู่ได้ในตลาดได้อย่างยั่งยืน