เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์ สร้างธุรกิจติดลบสู่อาณาจักร RS.SOUND ค่ายเพลงวัยรุ่นอันดับ 1 ของเมืองไทย

1269

พ.ศ.2497 จั๊ว แซ่เฮี้ย เด็กไทยเชื้อสายจีน ลืมตาดูโลกในบ้านเช่าเก่าๆย่านโบ๊เบ๊

โบ๊เบ๊ยุคนั้นเต็มพรืดไปด้วยบ้านเช่าราคาถูก ยังไม่เป็นตลาดเหมือนปัจจุบัน

ตระกูล “แซ่เฮี้ย” ก็ไม่ต่างจากตระกูลชาวจีนอื่นที่อพยพจากแผ่นดินใหญ่แบบเสื่อผืนหมอนใบ มาแสวงหาช่องทางทำกินในเมืองไทย

ขณะที่ตระกูลอื่นหลายกลุ่มเริ่มประสบความสำเร็จ แต่แซ่เฮี้ยกลับไม่มีโชค

ทว่า..ใครจะคิด คล้อยหลังเพียง 2 ทศวรรษ เขาคนนี้ได้สร้างตำนานบทใหม่ให้กับวงการเพลงไทยด้วยการเปิดค่ายเพลง  RS.SOUND เติบโตจนกลายเป็นค่ายเพลงวัยรุ่นอันดับ 1 ของเมืองไทย

สิ่งที่เด็กชายจั๊ว แซ่เฮี้ย สัมผัสตั้งแต่จำความได้ก็คือ เสื่อเก่าๆที่ปูบนพื้นไม้ นอนรวมกันพ่อแม่ลูก และข้าวต้มคลุกซีอิ๊วซึ่งเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นอาหารหลักของครอบครัว

บางครั้งอยากกินอาหารรสชาติแตกต่างจากที่เป็นอยู่ ก็ต้องไปเก็บผักบุ้งแถวรางรถไฟมาผัดกิน

ถ้ามีเงินไปซื้อก๋วยเตี๋ยวก็จะขอเส้นมากๆเนื้อน้อยๆ เพื่อให้อิ่มท้องไว้ก่อน

และด้วยความจนนี่เองทำให้จั๊ว แซ่เฮี้ย ไม่ได้เรียนหนังสือตามวัยเหมือนคนอื่น

ขณะที่เด็กรุ่นเดียวกันแต่งชุดนักเรียนเข้าประถม เขาต้องนั่งช่วยแม่ตัดขี้ด้ายจากเสื้อโหล

จนอายุ 8 ขวบจึงมีโอกาสเข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนเทพอักษร แถววัดสามง่าม สะพานกษัตริย์ศึก

แม้โรงเรียนจะอยู่ไกลจากบ้าน ทว่าจั๊ว แซ่เฮี้ยไม่เคยนั่งรถเมล์ไปโรงเรียน เขายอมลงทุนเดินเพื่อประหยัดค่ารถ แต่ถึงแม้จะประหยัดแค่ไหนก็ตาม สภาพของครอบครัวก็ยังขาดแคลน

หลายต่อหลายครั้งที่ถูกทางโรงเรียนทวงค่าเทอม

ความจน ความลำบาก กับจั๊ว แซ่เฮี้ย กลายเป็นเพื่อนที่แยกกันไม่ออก  แน่นอนว่ามันไม่มีทางไปจากเขา ถ้าจะตัดให้ขาด เขาต้องเป็นฝ่ายไปจากมัน

เขาเริ่มรู้สึกว่าการช่วยแม่ตัดขี้ด้ายไม่เพียงพอเสียแล้ว จึงคิดช่องทางหาเงินเพื่อช่วยเหลือทางบ้านอีกแรง แต่งานอะไรจะเหมาะกับเด็กวัยขนาดเขา

ประการแรกงานนั้นต้องไม่เบียดบังเวลาเรียน ประการที่สองต้องทำเงินในเวลารวดเร็ว และประการที่สามต้องไม่ขาดทุน

แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เขาก็ทำจนสำเร็จ โดยเงินทุนเริ่มต้น 25 บาทที่ขอจากแม่ ซื้อแผงสลากจากมหานาค มาให้เด็กแถวโบ๊เบ๊จับเพื่อเอารางวัล

จั๊ว แซ่เฮี้ย ใช้เวลาไม่ถึงสี่ชั่วโมงหลังเลิกเรียนทำกำไรวันหนึ่ง 10-20 บาท บางวันมากถึง 50 บาท

เขาเริ่มเห็นช่องทางการค้ามากขึ้น จึงพยายามขายทุกอย่างเท่าที่โอกาสจะเอื้อ ไม่ว่าจะเป็นหวานเย็น ตังเมหรือแม้กระทั่งเรียงเบอร์

ด้วยความรับผิดชอบที่เสมอต้นเสมอปลาย ทำให้การเรียนของจั๊ว แซ่เฮี้ย ตั้งแต่ประถมหนึ่งถึงประถมเจ็ด ไม่เคยได้เลขสองตัว ไม่ที่ 4 ก็ที่ 5 แม้ว่าจะเป็นนักเรียนที่ขาดเรียนบ่อยก็ตาม

หลังจบประถมเจ็ด เขาตัดสินใจออกมาหาประสบการณ์ชีวิต ด้วยมองว่าแทนที่จะเสียเวลา 6 ปีเพื่อเรียนให้จบมัธยมปลาย อาจใช้เวลา 6 ปีสร้างตัวให้เป็น “เถ้าแก่” ได้

เขาทำงานทุกอย่างที่ทำได้ จนญาติคนหนึ่งแนะนำให้ไปทำงานกับร้านขายแผ่นเสียง

อาณาจักรเพลงไทยเปิดประตูต้อนรับ จั๊ว แซ่เฮี้ย หรือชื่อไทยที่เปลี่ยนใช้อย่างเป็นทางการว่า เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์ ในขณะที่เขามีอายุ 16 ปี!!!

เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์ เริ่มชีวิตวงการเพลงกับโอเรียนท์ ร้านค้าส่งรายใหญ่ของประเทศ

แผ่นเสียงจากย่านสะพานเหล็กเกือบทุกร้าน จะถูกส่งมาที่โอเรียนท์ เพื่อกระจายออกต่างจังหวัด

จุดเด่นของโอเรียนท์คือไม่ได้ทำเพลงเอง เพราะฉะนั้นแผ่นเสียงที่กระจายจากร้านนี้จะเชียร์ตามคุณภาพ

เพลงดีเพลงดังฟังกันตามเนื้อหา แล้วแนะนำให้กับร้านค้าปลีก

1 ปีในการทำงานกับโอเรียนท์ เกรียงไกรรู้ระบบค้าส่งทุกขั้นตอน ก่อนลาออกไปอยู่กับ รามา

จากประสบการณ์ทั้งเคยเดินสายด้วยตัวเอง และพูดคุยทางโทรศัพท์สมัยอยู่กับโอเรียนท์ ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างเกรียงไกรกับร้านค้าทุกแห่งแน่นแฟ้น หลังเปิดตลาดต่างจังหวัดให้กับรามาได้ระยะหนึ่ง ก็ย้ายตำแหน่งมาประจำหน้าร้านในกรุงเทพฯ งานหน้าร้านทำให้เกรียงไกรรู้จักคนมากขึ้น ขณะที่ลูกค้าต่างจังหวัดก็ยังไม่ทิ้ง เพื่อนฝูงในวงการมากมายนับไม่ถ้วน แค่เอ่ยชื่อ “จั๊ว” ทุกคนต้องร้องอ๋อ เพราะในยุคนั้น ชื่อเขาถูกขึ้นทำเนียบนักฟังเพลงระดับพระกาฬ การันตีว่าเพลงไหนดัง..ต้องดัง! จนนักจัดรายการชื่อดังยุคนั้น ขอรายชื่อเพลง เพื่อนำไปจัดอันดับเพลงขายดีประจำสัปดาห์

เกรียงไกรได้รับความเชื่อถือขนาดนักทำเพลงหลายคนเอาแผ่นมาให้ฟังก่อนจะโปรโมท เมื่อเชียร์เพลงที่เกรียงไกรการันตีก็ดังสมใจนึก

ไม่ว่าจะเป็นเพลง..ข้าวไม่มีขาย..จดหมายเป็นหมัน..ขันหมากเศรษฐี..ทหารอากาศขาดรัก ฯลฯ ล้วนผ่านหูนักฟังเพลงที่ชื่อเกรียงไกรมาแล้วทั้งสิ้น

ชีวิตการทำงานกับรามา 5 ปี สั่งสมประสบการณ์ของเกรียงไกรให้เข้มข้นยิ่งขึ้น เขาไม่ได้รู้แค่เพลงไหนดัง ไม่ดัง แต่ยังรู้ว่าเพลงไหนจะมาอันดับ 1 อันดับ 2 อันดับ 3 บางครั้งอาจไม่ต้องฟังเพลง แค่ดูชื่อเพลงก็รู้ว่าอันดับ 1 คือเพลงอะไร

ด้วยผลงานเยี่ยมยอด ทำให้ขั้นเงินเดือนเพิ่มจาก 1,200 บาทเป็น 1,500 บาท ทว่า..นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกรียงไกรต้องการ เขาคิดว่าถึงเวลาต้องออกไปทำธุรกิจเอง เพื่อก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง “เถ้าแก่” ที่เคยฝันไว้ตั้งแต่จบประถม

สมการการเสี่ยงครั้งนั้นไม่มีอะไรซับซ้อน เขาคิดง่ายๆว่าเงินเดือน 1,500 บาท ถ้าขายแผ่นเสียงให้ตู้เพลงวันหนึ่ง 300 แผ่นก็จะได้เงิน 300 บาท หรือขายแผ่นเสียงให้ร้านค้าปลีก 100 แผ่น กำไรแผ่นละ 5 บาท วันหนึ่งก็ 500 บาท ถ้าโชคไม่ร้ายเกินไป ภายในหนึ่งเดือน เขาต้องทำเงินได้นับหมื่นบาท ไม่มีโอกาสไหนจะเหมาะกว่านี้อีกแล้ว!!!

ชีวิตเถ้าแก่ของเกรียงไกรเริ่มต้นในวัย 22 ด้วยมอเตอร์ไซค์เก่าๆ บรรทุกแผ่นเสียงตระเวนไปตามร้านค้าปลีกทั่วกรุงเทพฯ เกณฑ์การขายอยู่ในขั้นที่เรียกว่า..ดีมาก เฉพาะวันแรกวันเดียว ทำกำไรพันกว่าบาท ภูมิใจ..แต่เหนื่อยแทบขาดใจ

ระยะหลังธุรกิจแผ่นเสียงโรยรา เทปคลาสเซ็ทเริ่มเข้ามา สนามการค้าเพลงยิ่งร้อนแรง เพราะการต่อสู้ครั้งใหม่ ไม่ได้มีเฉพาะคนในวงการ  แต่คนนอกวงการก็เริ่มมองเห็นโอกาสจากตลาดเทปคลาสเซ็ท

คนนอกวงการดังกล่าว ไม่ได้เติบโตมากจากการขายแผ่นเสียง แต่เป็นพวกขายเครื่องเสียง นอกจากเงินจะหนาแล้ว ยังมีเครื่องมือที่เหมาะต่อการทำธุรกิจเทปคลาสเซ็ท คือสามารถนำเครื่องเสียงมาบันทึกเพลงจากแผ่นเสียงลงในเทปคลาสเซ็ทได้ นักลงทุนเหล่านี้จะมีเครื่องเสียงหลายร้อยเครื่อง บันทึกชั่วโมงเดียว ได้เทปคลาสเซ็ทหลายร้อยม้วน หลังบันทึกเสร็จจะส่งไปตามร้านขายเครื่องเสียงในต่างจังหวัดเพื่อฝากขาย แล้วตัดเปอร์เซ็นต์การขายให้กับร้านนั้นๆ

แต่ด้วยฐานทางธุรกิจของคนกลุ่มนี้ที่ถนัดแต่การขายเครื่องเสียง แนวการทำเพลงจึงไม่โดนใจคนฟังเท่าที่ควร สมมุติได้แผ่นเสียงมา 2 แผ่นก็จับ 1 กับ 2 ออกเป็นเทปเลย ไม่ต้องคัดเลือก ขายได้ก็ถือเป็นผลพลอยได้ ขายไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เรียกว่ามีทุนแต่ไม่มีประสบการณ์

ในขณะที่เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์ มีประสบการณ์แต่ขาดเงินทุน อย่างไรก็ตาม เมื่อตลาดเปลี่ยน เขาต้องเปลี่ยน หากไม่ปรับตัว อาจถึงทางตัน เพราะธุรกิจแผ่นเสียงถูกบีบทั้งเครดิตและราคา หักกลบลบหนี้แล้ว แทบไม่เหลือกำไร

แต่การเดินเข้าสู่ตลาดเทปคลาสเซ็ทก็มีปัญหา ถ้าแข่งเงินต่อเงิน เขาไม่มีทางสู้คู่แข่งนอกวงการได้

เงินเก็บจากการทำงาน 7 ปีและขายแผ่นเสียงอีกปีกว่าเหลือแค่ 30,000 บาท ซื้อเครื่องเสียง 5 ตัว..หมดแล้ว

และเครื่องเสียง 5 ตัวใช่ว่าจะเพียงพอ ต้องมีรีลอีก 1 ตัว เพื่อให้รีลพ่วงเพลงจากแผ่นเสียงลงในเครื่องเสียงทั้ง 5 เครื่อง มีรีลยังไม่พอ ต้องมีแอมป์เพื่อแต่งเสียง ต้องยืมสร้อยคอแม่ไปจำนำ ได้เงินมาอีก 20,000 บาท เงิน 50,000 บาทหมดเกลี้ยงกับอุปกรณ์ดังกล่าว ไม่เหลือสำหรับการใดอีก

แม้จะมีอุปกรณ์พร้อมสรรพก็ใช่ว่าจะไร้อุปสรรค เพราะในหนึ่งชั่วโมงเขาจะบันทึกเพลงจากแผ่นเสียงลงในเทปคลาสเซ็ทได้สูงสุดไม่เกิน 5 ม้วน ในขณะที่คู่แข่งบันทึกได้มากกว่า 500 ม้วนต่อชั่วโมง ยังไม่รวมคนงานติดฉลาก ติดสติกเกอร์นับร้อยคน เขาตัวคนเดียว ขับมอเตอร์ไซค์ส่งของ มองมุมไหนก็ยากจะต่อกร เพราะฉะนั้นหากคิดจะสู้ กลยุทธ์การขายต้องมากกว่าหนึ่งชั้น

เกรียงไกรพยายามศึกษาจุดอ่อนของคู่ต่อสู้ จนพบว่าคู่แข่งขาดความละเอียดในการเลือกเพลง ในแผ่นเสียงมีเพลงอะไร ก็เอาเพลงเหล่านั้นมาใส่ลงในเทปคลาสเซ็ท แต่ธรรมชาติของคนฟังเพลงไม่ได้ชอบทุกเพลงในแผ่นเสียง แผ่นเสียงบางแผ่นอาจมีเพลงโดนใจแค่เพลงหรือสองเพลง ถ้าอยากได้เพลงถูกใจทุกเพลงก็ต้องไปจ้างอัด

เกรียงไกรมองว่าถ้าจะทำให้เหนือชั้น ต้องนำจุดอ่อนของคู่แข่งมาเพิ่มจุดแข็งของตัวเอง คือคัดเฉพาะเพลงฮิตลงในเทปคลาสเซ็ท ทั้งเพลงฮิตของนักร้องคนเดียว และเพลงฮิตของนักร้องหลายคน

เขาใช้ชื่อยี่ห้อเทปคลาสเซ็ทว่า “ดอกกุหลาบ” หรือ “Rose Sound”

เพียงล็อตแรกที่ส่งขาย แรงตอบรับก็ท่วมท้น ส่งผลให้เทปตรา “ดอกกุหลาบ” ดังทั่วประเทศ ขายดีจนผลิตไม่ทัน!!!

กลายเป็นความสำเร็จที่ระคนด้วยความลำบาก เครื่องเสียง 5 เครื่อง เร่งบันทึกแค่ไหน ก็ได้เต็มที่แค่ชั่วโมงละ 5 ม้วน ทุกคืน..ไม่เคยหลับเต็มตา นอนครึ่งชั่วโมง ต้องตื่นเพื่อกลับเทป สถานที่ก็คับแคบ ห้องนอน ห้องบันทึกเทป เป็นห้องเดียวกัน ไม่มีแอร์ ต้องเปิดพัดลมเพื่อระบายอากาศ นอกจากการบันทึกเทป ยังต้องทำมาสเตอร์เทปชุดใหม่ที่ออก เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับอัดลงในเทปคลาสเซ็ททุกม้วน

แม้จะลำบากแสนสาหัส แต่ปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ลบล้างความเหนื่อยจนหมดคราบ เพียง 3-4 เดือนเงินทุนที่ลงไปก็ได้คืน ภายในหนึ่งปี สามารถเพิ่มเครื่องเสียงจาก 5 เครื่องเป็น 50 เครื่อง

ความแรงของเทปตราดอกกุหลาบ ทำเอาเหล่าคู่แข่งระส่ำไม่เป็นท่า เมื่อกำไรเพิ่มขึ้น อุปกรณ์มากขึ้น กฎหมายลิขสิทธิ์ก็เข้ามา

เมื่อกฎหมายลิขสิทธิ์เริ่มใช้ สมาคมเทปเพลงแห่งประเทศไทย จึงเจรจาเพื่อหาทางออก ของเก่าที่เคยทำก็ให้มีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ย้อนหลัง โดยเจ้าของค่ายเพลงกำหนดจำนวนเงินว่าจะเอาเท่าไหร่ แล้วให้ร้านค้าที่เคยนำเพลงไปอัดจำหน่ายร่วมกันจ่ายเงินจำนวนนั้น

เมื่อมีลิขสิทธิ์ ค่ายเพลงจึงใช้นโยบายขายขาด หมายความว่าถ้าจะซื้อแผ่นเสียงไปบันทึกต่อ ต้องซื้อเป็นแผ่น โดยขายแผ่นละ 5,000 บาท ซื้อแล้วจะเอาไปประกบยังไงก็ได้

พอนานเข้าค่ายเพลงก็เปลี่ยนวิธีการอีก ไม่ขายเป็นแผ่น แต่ขายเป็นปกเทปแทน โดยใช้เงินส่วนหนึ่งเชียร์เพลงที่ตัวเองผลิตจนดัง

ผิดกับตอนขายเป็นแผ่น ซึ่งค่ายเพลงไม่สนว่าจะดังหรือไม่ เพราะขาย 5,000 บาทขาดตัว แต่เมื่อขายเป็นปกต้องเชียร์ให้ดัง ยิ่งเพลงดังมากเท่าไร ก็ขายปกได้มากเท่านั้น

ราคาปกใบหนึ่ง 10 บาท ซื้อ 1,000 ใบจ่าย 10,000 บาท ถ้าซื้อ 10,000 ใบต้องจ่าย 100,000 บาท

ค่ายเทปจะทำมาสเตอร์เตรียมไว้ตามจำนวนของร้านที่จะซื้อไปอัดจำหน่าย ถ้ามี 30 รายก็จะทำมาสเตอร์ 30 ม้วน ร้านไหนสั่งปกกี่ใบก็แล้วแต่จะได้มาสเตอร์ 1 ม้วน เมื่อซื้อแล้วต่างคนต่างเอาไปติดสติ๊กเกอร์ยี่ห้อของตัวเอง ป้องกันการสับสนเวลาเทปขายได้หรือส่งกลับ

ยุทธวิธีดังกล่าวทำให้เทปตราดอกกุหลาบไม่ได้เปรียบคนอื่น

สมัยก่อนอาจได้เปรียบเพราะชำนาญด้านการประกบเพลง สามารถคัดเพลงโดนใจมาไว้ในม้วนเดียวได้ แต่ระบบใหม่..หมดสิทธิ์ ถ้าผู้ขายมี 30 ราย เพลงของทั้ง 30 รายจะเหมือนกันทั้งหมด ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ

เมื่อโดนวิธีนี้ เกรียงไกรต้องเปลี่ยนเทคนิค หันมาใช้ความเร็วสร้างยอดขาย เช่นมาสเตอร์ออกตอนเช้า เทปของดอกกุหลาบจะวางตลาดตอนบ่าย ขณะที่คนอื่นยังไม่ขยับ กว่าจะเริ่มวางแผงก็รุ่งขึ้นของอีกวัน

เมื่อดอกกุหลาบยังมาแรง คู่แข่งจึงหากลยุทธ์เพื่อต่อกร เริ่มต้นด้วยการตัดราคา ขายถูกกว่าดอกกุหลาบ 1 บาท เทคนิคนี้ส่งผลกระทบกับดอกกุหลาบทันที

จากที่บริษัทขายส่งเคยซื้อเทปเต็มจำนวนในวันแรกที่ดอกกุหลาบส่งมาให้กระจาย ก็ขอซื้อพร้อมรายอื่นวันรุ่งขึ้น เพราะเป็นที่รู้กันว่าเมื่อถึงวันรุ่งขึ้น ดอกกุหลาบต้องลดราคาเหลือเท่ากับรายอื่น

เมื่อดอกกุหลาบลด 1 บาทคู่แข่งก็จะดั๊มลงไป 2 บาท เพื่อปิดช่องทางไม่ให้ดอกกุหลาบขายเทปได้เร็วกว่า

สุดท้ายเมื่อเล่นสงครามราคาไม่ได้ ก็หันไปปล่อยเครดิตให้บริษัทขายส่งนานขึ้น จาก 3 เดือนเป็น 4 เดือนจนถึง 6 เดือน ด้วยหวังว่าดอกกุหลาบจะอยู่ไม่ได้ และถอนตัวจากวงการเพลง

เครดิตรับเงินจากค่าขายเทป 6 เดือน แต่เครดิตจ่ายเงินซื้อวัตถุดิบ 5 เดือน เครดิตจ่ายค่าปกเทป 2 เดือน

มองมุมไหนก็เสียเปรียบ

แต่เกรียงไกรไม่มีทางเลือก ต้องสู้!!!

ไม่สู้ก็ไม่มีทางไป

เรียกว่าเก็บเช็คได้ต้องขายทิ้งอย่างเดียว เพื่อเอาเงินไปเคลียร์หนี้

แม้ระยะหลังค่ายเพลงชั้นนำของเมืองไทยจะกำหนดว่าเทปชุดไหนจะให้ใครอัดขาย และ Rose Sound ได้ขายชุดที่มียอดเกินกว่าล้านตลับไม่ว่าจะเป็น “แกรนด์เอ็กซ์-โอ” ของแกรนด์เอ็กซ์ หรือ “หัวใจสลาย” ของ เดอะ ฮอทเปเปอร์ ซิงเกอร์ แต่ไม่ได้ช่วยเพิ่มความมั่นคงได้มากนัก

สถานการณ์เริ่มเลวร้าย ยิ่งนานวัน ไม่ใช่เฉพาะเกรียงไกรเท่านั้นที่ขมขื่น แต่ทุกคนล้วนตกอยู่ในภาวะหน้าชื่นอกตรม

ที่เห็นมีความสุขดูจะเป็นบริษัทขายส่งเท่านั้น

เพราะมีเงินสดอยู่ในมือ เนื่องจากเครดิตที่ได้จากผู้ขายเทปนานถึง 6 เดือน จึงนำเงินไปหมุนในธุรกิจอื่น จนประสบภาวะขาดทุนในปี 2524 ถึงขั้นล้มละลาย!!!

คนทำเพลงล้มระเนระนาด นับเป็นความวิกฤติครั้งยิ่งใหญ่ของวงการเพลง ทั้งระบบปั่นป่วนหมด เช็ค 18 ล้านของเกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์ กลายเป็นเศษกระดาษในพริบตา

เขาไม่ใช่แค่หมดตัว แต่ยังมีหนี้กว่า 10 ล้าน

มีบางคนบอกให้เขา..หนี!!!

หนี..ดูจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดเวลานั้น เพราะหนี้วัตถุดิบ 10 กว่าล้าน และหนี้ปกเทปอีกประมาณ 5 ล้าน คิดไม่ออกว่าจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย ชีวิตพลิกผันชั่วข้ามคืน

เมื่อวานยังทำเพลงส่งขาย วันนี้คนรับซื้อไม่อยู่แล้ว กลางคืนนอนร้องไห้ สมองรับรู้เพียงว่า..หมดตัวแล้ว

แค่เคลิ้มจะหลับความตกใจก็กระตุ้นเตือน..หมดตัวแล้ว!!! ไม่ใช่แค่หมดตัว แต่ยังมีหนี้อีกนับสิบล้าน..อยู่ได้ยังไง ล้มทั้งยืน..ไม่มีที่ไป มืดแปดด้าน สุดท้ายเขาตัดสินใจบอกภรรยาว่า..ต้องหนี!

ภรรยาเตือนสติว่าถ้าหนีครอบครัวจะทำยังไง ลูกยังเล็ก น้องๆยังเรียนหนังสือ ถ้าขาดเขาครอบครัวคงมีสภาพไม่ต่างจากเรือขาดหางเสือ พร้อมทั้งให้เหตุผลว่าถ้าไปทำอาชีพอื่นต้องเริ่มนับศูนย์ใหม่ แต่ถ้าพยายามสู้ต่อโอกาสยังมี เมื่อก่อนอาจจะนับไปถึง 80 แล้ว กลับมาสู้ตอนนี้อาจนับที่ 20 ยังดีกว่าออกจากวงการ เพราะต้องเริ่มต้นที่ 0 เป็นลูกจ้างเงินเดือนไม่กี่ตังค์..สู้ต่อเถอะ?

เมื่อได้กำลังใจ เกรียงไกรเริ่มมีสติ ไม่หนีก็ไม่หนี อย่างน้อยเหตุการณ์ครั้งนี้ ทุกคนเห็นว่าเขาถูกโกง ไม่ได้หลอกลวงใคร ใครจะฟ้องก็ยอม

แต่กำลังใจอย่างเดียวทำธุรกิจไม่ได้ ต้องมีเงิน จะไปเอาเงินที่ไหน ในเมื่อสภาพของเขาไม่ต่างจากคนล้มละลาย

ทางเดียวที่พอมองเห็นคือ ขอกู้จากเจ้าของวัตถุดิบที่เคยทำธุรกิจร่วมกัน

เขายอมรับกับเจ้าของวัตถุดิบตามตรงว่าหมดตัวแล้ว

“ผมมืดแปดด้าน ไม่รู้จะทำยังไง เพราะคนที่ผมจะทำเทปส่งขายเจ๊งไปหลายราย บอกตามตรงว่าไม่มีเงินจ่าย แต่ผมไม่โกง ผมจึงมาคุยว่าพอมีทางช่วยเหลือหรือผ่อนผันยังไงได้บ้าง” เกรียงไกรอธิบายความจริงกับเจ้าหนี้

หลังฟังจบ เจ้าหนี้ถามคำเดียวว่า..จะให้ทำยังไง แม้จะเป็นคำถามสั้นๆ แต่ก็เป็นประโยคความหวังที่ทำให้เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์ เห็นทางสู้ต่อ

“ผมคิดว่าคงต้องทำค่ายเพลงเอง”

คำตอบของเกรียงไกรทำเอาเจ้าหนี้อึ้งไปพักใหญ่ เป็นทางเลือกที่ต้องเสี่ยงว่าจะช่วยหรือไม่ การทำค่ายเพลงไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นเกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์..ยิ่งยาก..เป็นสองเท่า

จริงอยู่..เขาอาจจะเคยทำเพลงขาย แต่ก็เป็นการซื้อแผ่นหรือซื้อปกจากค่ายเพลงมาบันทึกขายต่ออีกที ไม่เคยมีค่ายเพลงเป็นของตัวเอง เมื่อเขาตัดสินใจจะทำค่ายเพลงเองก็ไม่ต่างจากการลองของใหม่ ไม่มีเงิน..ไม่มีประสบการณ์..มีแต่หนี้! มองไม่เห็นทางสำเร็จ

ขนาดคนที่มีทั้งเงินและประสบการณ์ยังไปไม่รอด แล้วคนที่ไม่มีอะไรในมือจะเอาอะไรไปสู้

แต่เกรียงไกรยืนกรานว่า ถ้าเขาไม่ทำค่ายเพลงเอง ชาตินี้ทั้งชาติไม่มีทางใช้หนี้ได้หมด

เพราะถ้าเขาได้เงินแล้วยังซื้อเพลงมาอัดขายเหมือนเดิม กำไรสูงสุดม้วนละ 3 บาท หักค่าต้นทุน ค่าใช้จ่าย เหลือไม่เท่าไหร่ และเจ้าหนี้ของเขาไม่ได้มีแค่รายเดียว ยังมีรายอื่นอีก ซึ่งบางรายประกาศตัวทันควันเมื่อรู้ว่าเขามีปัญหาว่า..ถ้าเขาคิดจะทำเพลงต่อต้องซื้อวัตถุดิบเป็นเงินสด..ไม่รับเช็ค!!!

 เขาตกอยู่ในภาวะการณ์เดินหน้าไม่ได้ ถอยหลังไม่มีที่ไป ต้องทำค่ายเพลงเอง แต่ทำค่ายเพลงต้องมีทุน

“หนี้เก่าจะทำยังไง” เจ้าหนี้ถามเหมือนไม่รู้จะพูดอะไรได้ดีกว่านั้น เกรียงไกรตอบตรงตามวิสัยคนใจนักเลง

“ไม่ต้องห่วง ผมไม่โกง ชีวิตผมอยู่ที่นี่ไม่ไปไหน ถ้าหนีผมไม่มาเจรจา ที่ผ่านมาทุกคนรู้นิสัยว่าผมตรงไปตรงมา ไม่เคยผิดคำพูด แต่ถามว่าทำแล้วไปรอดหรือเปล่า ผมยังไม่รู้ เพราะเป็นสิ่งใหม่ที่ผมต้องลอง ถ้าเดือนไหนมีกำไรผมจ่ายเต็มที่ เดือนไหนไม่มีผมขอผ่อนดอกเบี้ยอย่างเดียว ให้โอกาสผมสู้เถอะ อายุเท่านี้ผมสู้ตายอยู่แล้ว”

เหมือนไม่มีทางเลือก เจ้าของวัตถุดิบนำเงิน 2 ล้านให้ตามคำขอ โดยหวังว่าในอนาคตจะกลับมาพร้อมดอกเบี้ย จากค่ายเพลงใหม่นาม RS.SOUND ซึ่งอักษร RS ก็ย่อมาจาก Rose ที่แปลว่าดอกกุหลาบนั่นเอง

ขณะนั้นคือปี 2525