“กลุ่มแกนนำเกษตรกร” วอนรัฐทบทวนก่อนฟันธงนโยบายแบนสารเคมี

963

สมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กลุ่มโครงการราชบุรีประชารัฐ พืชผักและผลไม้ปลอดภัย ทวงสัญญานโยบายพรรคภูมิใจไทย “ทวงคืนกำไรให้เกษตรกร”

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากการออกนโยบายหาเสียงของพรรคภูมิใจไทยเรียกคะแนนจากกลุ่มเกษตรกรทั่วไทยว่า จะสร้างกำไรให้เกษตรกรในผลผลิตมันสำปะหลัง (ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 4 บาท) อ้อย (ไม่ต่ำกว่าตันละ 1,200 บาท)  ปาล์ม (ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 5 บาท) ยางพารา (เป้าหมายกิโลกรัมละ 70 บาท) เพียงทำงานไม่กี่วัน นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็เตรียมเดินเรื่องแบนสารเคมี ทั้งพาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส โดยไม่ศึกษาข้อมูลมาก่อนว่าข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างไร ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นอย่างไร  แถมแนะให้เกษตรกรใช้สารเคมีอีกชนิด “กลูโฟซิเนต” ที่มีราคาแพงและส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่า ซึ่งแนวทางดังกล่าวขัดแย้งกับนโยบายสร้างกำไรให้แก่เกษตรกร เนื่องจากเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต และสร้างผลกระทบให้แก่ผู้บริโภคมากกว่าเดิม

นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กลุ่มโครงการราชบุรีประชารัฐ พืชผักและผลไม้ปลอดภัย กล่าวเสริมว่า ผลการตรวจสารเคมีตกค้างในพืชผลทางการเกษตรตลอด 2 ปีที่ผ่านมาของกลุ่มไม่พบสารพาราควอต ไกลโฟเซต ยืนยันว่าปัจจุบันยังไม่มีสารใดสามารถทดแทนพาราควอตได้ ทั้งในด้านราคา ประสิทธิภาพ แม้ก่อนหน้านี้ กรมวิชาการเกษตรได้เสนอสารชีวภัณฑ์มาให้เกษตรกรใช้ กลับพบว่าสารดังกล่าวก็มีส่วนผสมของสารเคมีเช่นเดิม นอกจากนี้ทางเครือข่ายฯ ได้ทำหนังสือขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ตั้งแต่เดือนที่แล้ว เพื่อนำเสนอข้อมูลความจริงอีกด้านให้พิจารณา แต่ยังไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าพบ

ด้านนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ นายกสมาคมเกษตรปลอดภัย นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารพาราควอตในมิติต่าง ๆ เข้าพบ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ควรให้การอบรมเกษตรต่อเนื่องในทุกสารเคมีเกษตร ไม่ควรจำกัดการใช้ จำกัดปริมาณที่สวนทางกับความเป็นจริง เหตุทำให้สินค้าขาดตลาด ก่อให้เกิดปัญหาสินค้าปลอม การนำเข้าผิดกฎหมาย สินค้าราคาสูงขึ้น สิ่งสำคัญทุกภาคส่วนต้องให้ความรู้แก่เกษตรกร ใช้ให้เป็น ใช้ให้ถูก อย่าไปโทษสารเคมีทุกตัวอันตรายหมด สองปีที่ผ่านมาเกษตรกรเป็นผู้รับเคราะห์มาตลอด ตั้งแต่ข้อเสนอแบนสารเคมีของกระทรวงสาธารณสุข องค์กรอิสระ โดยท้ายสุดก็มีมติจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่าข้อมูลต่างๆ มีหลักฐานไม่เพียงพอ และยังไม่มีสารใดมาทดแทนสารพาราควอตได้ แต่เกษตรกรก็ยังได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการต่างๆ ของกรมวิชาการเกษตรจนถึงทุกวันนี้

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวสรุปกับนายกสมาคมเกษตรปลอดภัยว่า การอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรจะดำเนินการต่อเนื่อง โดยหาแนวทางให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงการอบรมได้ง่าย มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งจะพิจารณามอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการอบรมความรู้ ตามมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตร ส่วนการใช้สารเคมียังคงยึดนโยบายเดิมคือ จำกัดการใช้สารเคมีหรือควบคุมการใช้สารเคมี ยังไม่มีมติอื่นใด

ท้ายสุด แกนนำเกษตรกรดังกล่าว จึงอยากขอให้ รมช. มนัญญา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคภูมิใจไทย ทบทวนตรวจสอบข้อมูลผลดีผลเสียอย่างรอบด้านก่อนพิจารณาหรือตัดสินใจ เพราะนโยบายที่กำลังทำส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในวงกว้าง ทั้งในแง่ต้นทุน การนำเข้าสารเคมีผิดกฎหมาย การฉวยโอกาสจากพ่อค้าคนกลาง