‘ข้าว ยาง ปาล์ม’ อนาคตสดใสในอินเดีย..จริงหรือ?

1882

จากนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการระบายสินค้าเกษตรส่งออกไปขายต่างประเทศ โดยพยายามมุ่งสู่ประเทศที่มีศักยภาพและกำลังการซื้อ หนึ่งในนั้นคืออินเดีย ธราดล ทองเรือง อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงนิวเดลี กล่าวถึงโอกาสการขยายออเดอร์ ข้าว ยาง และ ปาล์ม ในตลาดินเดียยังมีความสดใส

ธราดล ทองเรือง

ระบายข้าวสู่ตลาดโลก

ในส่วนของข้าว นายธราดลกล่าวว่า แม้การส่งเข้าไปขายให้ผู้บริโภคชาวอินเดียโดยตรงอาจลำบาก เนื่องจากอินเดียเป็นหนึ่งในผู้ปลูกข้าวรายใหญ่ของโลก โอกาสที่จะนำเข้าจากต่างประเทศค่อนข้างยาก ยกเว้นในบางปีที่มีมรสุมหรือเกิดภาวะแห้งแล้งจนผลิตได้น้อยไม่เพียงพอต่อการบริโภคจึงจะนำเข้า อย่างไรก็ตาม หากเราใช้เทรดเดอร์ของอินเดียช่วยกระจายข้าวไปยังตะวันออกกลาง เช่น อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย ยูเออี อิรัก หรือแอฟริกา เช่น เบนิน ไอเวอรี่โคส แอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่คนอินเดียมีความคุ้นเคยและค้าขายกันอยู่ก็จะทำให้เราสามารถขายข้าวไปในประเทศเหล่านั้นได้มากขึ้น

ยางพาราโอกาสสูง

สำหรับกลุ่มยางพาราต้องบอกว่าเรายังมีโอกาสอีกมาก แม้ในอินเดียจะมีการปลูกยางทางแถบภาคใต้อย่างรัฐทมิฬนาดูหรือรัฐเคลาร่า แต่ก็ไม่เพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากเขาผลิตได้ประมาณ 9 แสนตันถึง 1 ล้านตันต่อปี แต่การบริโภคภายในประเทศมีสูงถึง 1.3 ล้านตันต่อปี ต้องนำเข้าประมาณ 3.5-4 แสนตันต่อปี โดยนำเข้าจากอินโดนีเซียเป็นหลัก นำเข้าจากไทยยังค่อนข้างน้อย สาเหตุที่อินเดียนำเข้ายางพาราจากไทยน้อยกว่าอินโดนีเซียเพราะว่าที่ผ่านมาเราเน้นการขายให้กับจีนเป็นหลัก เราจึงคุ้นเคยกับตลาดจีน ทำให้เวียดนามที่เมื่อก่อนเป็นรองเรา แต่วันนี้เขาขายยางพาราให้อินเดียได้มากกว่าเรา จึงอยากให้ผู้ส่งออกยางพาราลองหันมามองตลาดอินเดียซึ่งยังมีโอกาสที่เปิดกว้างมาก ซึ่งยางพาราที่อินเดียนำเข้าส่วนใหญ่ 3 ใน 4 นำไปผลิตยางรถยนต์ เพราะในอินเดียมีรถยนต์จำนวนมากและมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ตามจำนวนประชากรที่มีมากถึง 1,300 ล้านคน บริษัทผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ อาทิ  บริษัทอะพอลโล, เอ็มอาร์เอฟ, CEAT, BKT, กู้ดเยียร์อินเดีย, โกวินรับเบอร์, ฟอลเค่นอินเดีย, พีทีแอลอินเตอร์ไพรส์และบริษัทวีรับเบอร์ โดยเฉพาะบริษัทวีรับเบอร์มีเจ้าของเป็นคนไทยตั้งอยู่ในรัฐคุชราช และโดยเฉพาะสมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์ ATMA (Automotive Tyre Manufacturer Association)  ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสของผู้ส่งออกไทย

ปาล์มน้ำมันลู่ทางสดใส

ในส่วนของปาล์มน้ำมัน เป็นพืชอีกชนิดที่มีโอกาสส่งออกไปอินเดียค่อนข้างสูง เนื่องจากคนอินเดียบริโภคน้ำมันพืชที่ผลิตจากปาล์มเป็นอันดับ 1 ของโลก มีความต้องการบริโภคมากกว่า 8 ล้านตันต่อปี แต่อินเดียผลิตได้แค่ 3 ล้านตันต่อปี มีส่วนต่างที่ต้องนำเข้าถึง 5 ล้านตันต่อปี ทั้งการนำเข้าในรูปน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ โดยนำเข้าจากอินโดนีเซียประมาณ 2,900 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี นำเข้าจากมาเลเซีย 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และนำเข้าจากไทยเพียง 200 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้มูลค่าการนำเข้าจากไทยน้อยกว่าอินโดนีเซียและมาเลเซียค่อนข้างมากเนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการลงนามข้อตกลงลดภาษีปาล์มน้ำมันระหว่างอินเดียกับรัฐบาลมาเลเซียที่เรียกว่าข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างมาเลเซียกับอินเดีย Comprehensive Economic Coorperation Agreement : CECA เป็นข้อตกลงให้ปาล์มน้ำมันจากมาเลเซียถูกกว่าประเทศอื่น 5% สำหรับไทยเคยคุยกันเมื่อปี 2015 แต่ยังไมมีข้อสรุป อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางกลุ่มผู้ผลิตปาล์มน้ำมันอินเดียได้ยื่นเรื่องให้รัฐบาลยกเลิกภาษี 5% โดยให้เก็บเท่ากันหมดทุกประเทศ หากข้อเรียกร้องดังกล่าวประสบความสำเร็จ ในอนาคตภาษีนำเข้าปาล์มน้ำมันของอินเดียจะเท่ากันทุกประเทศ ทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกปาล์มน้ำมันไปอินเดียมากขึ้น ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาปริมาณการบริโภคน้ำมันพืชของอินเดียเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ที่นี่จึงถือเป็นตลาดส่งออกปาล์มน้ำมันขนาดใหญ่ จึงอยากให้ผู้ส่งออกไทยหันมาให้ความสำคัญกับตลาดอินเดีย เข้าไปจัดงานแสดงสินค้า เข้าไปคุยกับผู้นำเข้าหรือไปสร้างคอนเนคชั่นกับสมาคมต่างๆ อาทิ สมาคม SEA (Solvent Extradtor Association) ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีข้อมูลการนำเข้าพืชน้ำมันจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้ศักยภาพการแข่งขันปาล์มน้ำมันของไทยเป็นรองมาเลเซียคือต้นทุนโลจิสติกส์ เนื่องจากค่าขนส่งของเราแพงกว่า เพราะต้องขนปาล์มจากสวนทางภาคใต้ใส่รถบรรทุกไปยังท่าเรือแหลมฉบังเพื่อส่งลงเรือผ่านไปยังสิงคโปร์ แต่ถ้าหากเราพัฒนาท่าเรือน้ำลึกระนองให้มีประสิทธิภาพรองรับการขนส่งได้มากขึ้น ก็สามารถส่งออกปาล์มน้ำมันจากระนองตรงไปอินเดียได้เลย ต้นทุนการขนส่งจะถูกลงอีกมาก ศักภาพการแข่งขันของเราก็จะสูงขึ้น

ช่องทางเปิดตลาดอินเดีย

อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ฯแนะนำว่า การค้าขายในปัจจุบันเราต้องบุกเข้าไปหาลูกค้า ไม่ใช่นั่งรอให้เขาบินมาหาเราที่เมืองไทย กิจกรรมหลักที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศดำเนินการต่อเนื่องมาตลอดคือการเจรจาการค้าและการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าก็จะต้องเพิ่มความเข้มข้นทั้งจำนวนครั้งและจำนวนเมืองขยายออกไปยังเมืองรองของอินเดีย เช่นเมืองลักเนาว์ในรัฐอุตรประเทศ ที่มีประชากร 220 ล้านคน กลุ่มรัฐ 7 สาวน้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นประตูสู่อินเดียซึ่งมีถนน 3 ฝ่ายไทย-เมียนมา-อินเดียพาดผ่าน รัฐทางภาคเหนือเช่นกลุ่มรัฐปัญจะและอุตรันจัล รัฐทางภาคตะวันตกกุจราชและราชาสถาน รัฐภาคกลาง มัธยประเทศและอันทรประเทศ รัฐภาคใต้ เครเล่า และ กรณาฏกะ รวมถึงเวสแบงกอลที่มีกัลกาตาเป็นเมืองหลวง มีท่าเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่สามารถเชื่อมกับระนองได้ นอกจากนี้การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในเมืองหลักร่วมกับภาคเอกชนอินเดียก็เป็นวิธีการที่สามารถเก็บสต็อกสินค้าไว้สำหรับการรว่มงานแสดงสินค้าของเอกชนไทย และยังเป็นโอกาสในการเจาะตลาดออนไลน์ในอินเดียซึ่งกำลังขยายตัวอย่างมาก การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าที่เมืองกูวาฮาติ รัฐอัสสัมเป็นหนึ่งจุดที่จะสามารถจำหน่ายสินค้าได้ครอบคลุมทั้ง 7 รัฐในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย สามารถขนส่งสินค้าผ่านถนน 3 ฝ่าย จากแม่สอด-เมียนมาและอินเดียได้ ยิ่งน่าสนับสนุนให้นักธุรกิจระดับกลางของไทยร่วมทุนกับผู้จัดจำหน่ายสินค้าในอินเดีย จัดตั้งหน่วยผลิตสินค้าในอินเดียโดยใช้วัตถุดิบในอินเดีย ด้วยการนำเอาความรู้และเทคโนโลยีของไทยที่มีความก้าวหน้าและทันสมัยกว่าทดแทนการขนส่งสินค้าจากไทยซี่งมีต้นทุนค่าขนส่งสูง อัตราภาษีนำเข้าสูง จะทำให้สินค้าไทยแข่งขันกับสินค้าท้องถิ่นได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญในการส่งสินค้าไทยไปขายในอินเดีย นอกจากอัตราภาษีที่สูงแล้ว อีกอย่างก็คือการตรวจสอบที่เข้มงวด โดยเฉพาะสินค้าบริโภคและเครื่องสำอาง โดยหน่วยงานการตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาหารคือ FSSAI หรือ Food Selfy Standard Autority of India ร่วมกับหน่วยงานด้านมาตรฐานสินค้า ซึ่งภาครัฐควรจะเจรจากันเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่นหากฝ่ายไทยรับรองแล้วว่าปลอดภัยก็ขอให้ฝ่ายอินเดียยอมรับ ในทางกลับกันสินค้าที่จะส่งเข้ามาขายในไทย ถ้าผ่านการยอมรับจากอินเดียก็ไม่ต้องตรวจสอบเพิ่มเติม ก็จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กันทั้งสองฝ่าย