ถังขยะดับกลิ่นผลไม้..ไอเดียนักศึกษายุคใหม่

7456

นักศึกษาหอการค้าไทยคว้ารางวัลชนะเลิศถังขยะดับกลิ่นผลไม้ แก้ปัญหาผลไม้ในตลาดนัดที่ถูกนำมาทิ้งเน่าเสียด้วยการอบแห้งแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ แถมมีช่องทิ้งไม้เสียบ พลาสติก แปรรูปเพิ่มมูลค่าได้อีกทอด

นางสาวแทนหทัย ตั้งประเสริฐ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ สาขาการจัดการธุรกิจสายการบิน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตัวแทนทีมเบบี้แครอทเจ้าของรางวัลผู้ชนะประเภท Winner Best Impact เล่าว่า “จากการลงสำรวจพื้นที่แถวย่านห้วยขวาง มีถังขยะเยอะก็จริง แต่ไม่เพียงพอต่อการทิ้งขยะของคนในละแวกนั้น อีกทั้งถังขยะบางอันก็ชำรุดไม่สมบูรณ์ พื้นที่ตลาดมีผลไม้เน่าเสียที่นำมาทิ้งจำนวนมาก ทำให้ถนนดูไม่สะอาดและส่งกลิ่นเน่าเหม็น ทางทีมจึงคิดทำถังขยะรูปแบบใหม่ที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับขยะประเภทผลไม้ เพื่อให้สภาพแวดล้อมในละแวกนั้นดีขึ้น ผลิตภัณฑ์ถังขยะดับกลิ่นผลไม้สามารถอบแห้งผลไม้ที่ทิ้งได้ โดยไม่ทำให้น้ำในผลไม้ที่ทิ้งเกิดการไหลออกมานอกถังขยะ เพราะน้ำในผลไม้เมื่อไหลออกมาแล้วจะส่งกลิ่นเน่าเหม็นเป็นอย่างมาก พอเราใช้ถังขยะนี้แล้วจะลดปัญหานี้ออกไปได้ ทำให้สภาพแวดล้อมในพื้นที่ดูดีขึ้นกว่าเดิม เพราะในละแวกนั้นเป็นตลาดนัด ความสะอาดถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก และผลิตภัณฑ์ตัวนี้สามารถใช้กับขยะเปียกได้ทุกชนิด ไม่จำเป็นต้องเป็นผลไม้เพียงอย่างเดียว เพราะสามารถทำให้ขยะที่ทิ้งนั้นแห้งไม่มีน้ำไหลออกมาจากถังขยะ ไม่ส่งกลิ่นเน่าเสีย อีกทั้งยังทำให้ทัศนียภาพในละแวกนั้นดูดีขึ้น”

นางสาวอรวี เพชรฉุย นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ สาขาการจัดการธุรกิจสายการบิน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวเสริมว่า ถังขยะดับกลิ่นผลไม้ต้นทุนขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 28,000 บาท แต่ราคาจะเปลี่ยนไปตามขนาดของตัวอบขยะ ลักษณะพิเศษอย่างแรกคือมีช่องใส่ขยะเปียก ผลไม้ ขยะเน่าเสีย สิ่งที่พิเศษในช่องนี้คือเตาอบซึ่งเตาอบนี้ก็จะเหมือนเตาอบผลไม้แห้งทั่วๆไป มีการใช้วงจรของแผงโซล่าเซลล์เข้ามาช่วยในการที่ลดพลังงานไฟฟ้าที่ต้องใช้กับตัวเตาอบเพื่ออบขยะเปียก ผลไม้ หรือขยะเน่าเสียให้แห้ง นอกจากนี้ยังมีช่องสำหรับทิ้งถุงพลาสติกและขยะทุกอย่างที่ทำจาพลาสติกได้ทั้งทั้งหมด รวมถึงมีช่องทิ้งไม้แหลมหรือไม้เสียบได้ด้วย ซึ่งในส่วนขยะที่เป็นประเภทไม้เสียบกับพลาสติกจะนำไปแปรรูปและรีไซเคิลต่อไป เพื่อต่อยอดสร้างรายได้ต่อไปอีก เช่น ช่องอบแห้งผลไม้ที่ผ่านการอบแห้งสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยปลอดสารเคมีได้  ช่องพลาสติกนำไปขายต่อโรงงานที่รับซื้อพลาสติกต่างๆ ส่วนช่องไม้เสียบนำไปแปรรูปเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ งานฝีมือต่างๆ  สร้างอาชีพให้กับคนในละแวกนั้นได้อีกด้วย

“ถังขยะของทีมเบบี้แครอทสามารถที่จะสร้างรายได้ให้กับคนที่ต้องการทำงานจิตอาสาเข้ามาช่วยเก็บขยะของเราในแต่ละประเภทแยกออกและนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ เพราะถังขยะของทีมเรานั้นต้องเปลี่ยนทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นช่องเตาอบ ถุงพลาสติก หรือไม้ต่างๆ การทำงานในส่วนนี้จะต้องใช้แรงงานคนค่อนข้างเยอะ ก็เลยคิดว่าจะมีการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้น โดยที่เราต้องการจ้างคนในพื้นที่นั้นๆ เพราะมีพื้นฐานความรู้สภาพแวดล้อมเป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยให้สภาพแวดล้อมสวยงามและดีขึ้นตามลำดับ” ทีมเบบี้แครอท กล่าวทิ้งท้าย