สสว. จับมือ ส.อ.ท. สนับสนุน SME เข้าสู่ตลาดภาครัฐ-เอกชน

442

สสว. ร่วมกับ ส.อ.ท. เดินหน้าเชื่อมระบบ THAI SME-GP กับ MIT มุ่งอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ และขยายโอกาสการให้ SME เข้าถึงตลาดภาครัฐรวมถึงภาคเอกชนมากขึ้น กลุ่มธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์เพิ่ม เช่น เหล็ก วัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนยานยนต์ ฯลฯ ขณะที่ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2565 ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียน THAI SME-GP มีมูลค่าการขาย/รับจ้างงานหน่วยงานภาครัฐแล้ว 42,897 ล้านบาท

รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ตามที่กฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 และแนวปฏิบัติตามกฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 3 หรือหนังสือ ว 78 ของกรมบัญชีกลาง ได้กำหนดสิทธิประโยชน์สำหรับ SME ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ สสว. และได้รับการรับรองภายใต้มาตรการสนับสนุน SME เพื่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่ www.thaismegp.com หรือระบบ THAI SME-GP และมีการเสนอขายสินค้าที่ได้รับการรับรองเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศ (Made in Thailand : MIT) จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะได้รับแต้มต่อในการเสนอราคากับภาครัฐไม่เกินร้อยละ 15 ของผู้เสนอราคาต่ำสุดที่เป็นผู้ประกอบการทั่วไปนั้น ทำให้ สสว. และ ส.อ.ท. มีแนวทางร่วมกันที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ที่ขายสินค้าที่ได้รับการรับรองเป็นสินค้า MIT ให้มีโอกาสเข้าสู่ตลาดภาครัฐรวมถึงตลาดภาคเอกชนได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่จะดำเนินการเรื่องนี้ให้บรรลุเป้าหมาย

“ความร่วมมือของ สสว. และ ส.อ.ท. ในครั้งนี้ จะมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของทั้ง 2 ระบบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้หน่วยงานภาครัฐที่จะจัดซื้อ สามารถค้นหา SME ที่ขายสินค้า MIT ได้ง่ายและสะดวกมากขึ้นในระบบ THAI SME-GP ขณะที่ผู้ประกอบการก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้วยแต้มต่อเพิ่มเป็นไม่เกินร้อยละ 15 ปัจจุบันผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียน THAI SME-GP ของ สสว. มีจำนวนกว่า 1.3 แสนราย กลุ่มที่จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นคือกลุ่มที่ขายสินค้า MIT โดยเฉพาะกลุ่มเหล็ก กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้ SME มีโอกาสได้รับการจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐได้มากขึ้น” ผอ.สสว. กล่าว

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากการเชื่อมโยงข้อมูลระบบ THAI SME-GP และระบบ MIT เพื่อการค้นหาในจุดเดียวกันแล้ว ยังร่วมกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายมาขึ้นทะเบียน เพื่อได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น สนับสนุนข้อมูล ความรู้ ให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับมาตรการภายใต้ข้อกำหนดในกฎกระทรวงฯ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ ของแต่ละฝ่าย รวมถึงการสนับสนุนให้ SME สามารถเข้าถึงตลาดภาคเอกชนในเครือข่ายความร่วมมือที่แต่ละฝ่ายมี เป็นต้น ด้วยเป้าหมายเพื่อร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและภาคเอกชนได้มากขึ้น

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 มิถุนายน) ระบบ THAI SME-GP มีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนรวม 135,077 ราย มีรายการสินค้าและบริการรวม 1,070,891 รายการ จังหวัดที่มีการขึ้นทะเบียนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี เชียงใหม่ ปทุมธานี และนครราชสีมา สินค้าที่มีการขึ้นทะเบียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องใช้และอุปกรณ์สำนักงาน วัสดุอุปกรณ์และวัสดุสิ้นเปลืองสำหรับเครื่องดนตรี เกม ของเล่น งานศิลปะ งานฝีมือและการศึกษา บริการด้านการก่อสร้างและบำรุงรักษาอาคาร ส่วนประกอบและวัสดุสิ้นเปลืองของโครงสร้าง อาคาร สิ่งก่อสร้างและการผลิต และผลิตภัณฑ์ที่พิมพ์เผยแพร่ เป็นต้น โดยไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.-ธ.ค.2564) ภาครัฐมีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า/บริการของ SME ที่ขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP คิดเป็นมูลค่ารวม 42,897 ล้านบาท สินค้าที่ได้รับการจัดซื้อจัดจ้างในลำดับต้นๆ เช่น งานก่อสร้าง อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ บริการทำความสะอาด อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

สสว. เชื่อมันว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ นอกจากเป็นขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME
แล้วยังช่วยส่งเสริมสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ (Made in Thailand) ให้สามารถเข้าสู่ตลาดภาครัฐที่มีมูลค่าถึง 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี ได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น และคาดว่า SME จะสามารถมีส่วนแบ่งในตลาดทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน