‘ปรับตัว เปิดใจ’ ก้าวไปกับยุคดิจิทัล

1313

ทิศทางการพัฒนาและยกระดับประเทศ ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 กำลังถูกผลักดันและขับเคลื่อนอย่างจริงจัง หนักหน่วง โดยวางหมุดหมายภายในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า ไทยจะต้องหลุดพ้นจากกับดักการมีรายได้ต่ำ ไปสู่รายได้ปานกลาง และระดับสูงในที่สุด อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนับแต่นี้ไป คนไทยเราต้องปรับเปลี่ยน เรียนรู้ และรับมือกับคลื่นลูกที่ 4 นี้กันแบบไหนดี?

เพราะต้องยอมรับว่าศตวรรษที่ 21 นี้เป็นยุคแห่งโลกดิจิทัลอย่างแท้จริง โดยมีเศรษฐกิจดิจิทัล หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีเทคโนโลยีสารสนเทศหรืออินเตอร์เน็ตเป็นตัวผลักดันประสิทธิภาพของโครงสร้างเศรษฐกิจ และมีเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่เป็นตัวขับเคลื่อน ตลอดจนการใช้ข้อมูลสารสนเทศแบบดิจิตอลเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ

ไม่เฉพาะแค่ภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ สินค้าหรือบริการต่างๆเท่านั้น ที่จะต้องปรับตัว ใช้นวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์เป็นตัวนำ เพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่า แต่ในระดับตัวบุคคลก็จำเป็นต้องปรับกระบวนทัศน์ วิถีชีวิต ให้สอดคล้องกับยุคสมัยเช่นกัน

แล้วคุณลักษณะของคนไทย 4.0 นั้นเป็นเช่นไร? ซึ่งแนวทางการปรับเปลี่ยนจะครอบคลุมใน 4 มิติ คือ 1) คนไทยจะต้องปรับไลฟ์สไตล์แบบ Thai-Thai เป็นแบบ Global Thai มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย แต่มีกรอบความคิดเป็นสากล เพราะโลกกำลังเปลี่ยนจาก One Country One Destiny เป็น One World One Destiny

2) คนไทยต้องเปลี่ยนจาก Analog Thai เป็น Digital Thai เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตเรียนรู้ ทำงาน และประกอบธุรกิจได้ ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน เพราะโลกกำลังปรับเปลี่ยนจาก Analog Society เป็น Digital Society

3) คนไทยต้องเปลี่ยนจากการที่มีความรู้และทักษะต่ำ เป็นคนไทยที่มีความรู้และทักษะสูง มีความสามารถในการรังสรรค์นวัตกรรม เพื่อให้อยู่ได้ใน Global Digital Platform และ 4) คนไทยต้องเปลี่ยนจากการเน้นประโยชน์ส่วนตน เป็นคนมีจิตสาธารณะเกื้อกูล แบ่งปัน และรับผิดชอบต่อส่วนรวม

ดังนิยามของคนไทยในศตวรรษที่ 21 ที่ว่า “คนไทยที่มีปัญญาเฉียบแหลม มีทักษะที่เห็นผล มีสุขภาพแข็งแรง และมีจิตใจที่งดงาม”

จะให้เห็นภาพขึ้นมาอีกนิด ก็ต้องเทียบเคียงกับการใช้โทรศัพท์มือถืออุปกรณ์ใกล้ตัวนี่แหละ หากใครยังใช้งานเพียงเพื่อการสื่อสารพื้นฐาน ถือว่าเป็นคนไทย 1.0 หากใช้เพื่อการส่ง e-mail ส่งไฟล์เอกสาร หรือใช้ประโยชน์ในการทำงาน และกิจวัตรประจำวัน ก็เท่ากับว่าได้ยกระดับตนเองเป็นคนไทย 2.0 แต่หากใช้สมาร์ทโฟนได้ราวกับคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แสวงหาความรู้ใหม่ ๆ พัฒนาตนเอง ติดต่อกับคนทั่วโลกได้ ก็จะอยู่ในข่ายเป็นคนไทย 3.0 ยิ่งไปกว่านั้น หากสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างเครือข่าย สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ นำไปสู่การผลิต ด้วยความรู้เหล่านั้น แล้วรู้สึกว่าทำงานน้อยลง แต่ได้ผลผลิตมากขึ้น เมื่อเทียบกับที่ผ่านมา แบบนี้จึงได้ชื่อว่าเป็น คนไทย 4.0 อย่างแท้จริง

อันที่จริง พฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์มือถือเหล่านี้ เชื่อว่าในปัจจุบันคนไทยจำนวนมาก น่าจะเป็นคนไทยในระดับ 2.0 และ 3.0 สะท้อนจากกิจวัตรประจำวัน เริ่มจากตื่นเช้ามาส่วนใหญ่ก็จะหยิบสมาร์ทโฟน ขึ้นมาอัพเดทข้อมูลข่าวสาร บ้างอ่านข่าวสารบ้านเมืองผ่านเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น บ้างโต้ตอบสื่อสารกับเพื่อนในไลน์กลุ่ม เฟซบุ๊ค เช็คข้อความผ่านอีเมล์ส่วนตัว รวมไปถึงการสมัครใช้บริการรับโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ (Prompt pay) เป็นอาทิ

กลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่ง ก็ก้าวเข้าสู่การเป็นคนไทย 4.0 สมบูรณ์แบบไปแล้ว โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ใช้ไอเดียสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าหรือบริการผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ หรือเรียกว่า Start up ซึ่งก็มีแนวโน้มการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

และคนไทยจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ที่สามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ โดยอาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการสื่อสารโทรคมนาคม ด้วยการทำธุรกรรมค้าขายบนโลกออนไลน์อย่างจริงจัง ผ่านหลากหลายเครื่องมือ ทั้งเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น และสื่อสังคม เฟซบุ๊ค ไลน์ ยูทูป อินสตราแกรม ฯลฯ

หรืออีกจำพวกหนึ่งก็นิยมชมชอบซื้อสินค้าและบริการออนไลน์อยู่เป็นนิจ เช่น การชอปปิ้งออนไลน์, ใช้บริการขนส่งพัสดุภัณฑ์ Delivery Express ซึ่งมีอยู่หลายเจ้าทั้งแบรนด์ไทยและเทศ, สั่งอาหารออนไลน์, ค้นหาช่างซ่อมงานบ้าน หรือแม้แต่เรียกใช้รถร่วมบริการ แกร็บแท็กซี่ ซึ่งยังคงเป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานรัฐ ผู้ให้บริการ และแท็กซี่ท้องถิ่นอยู่ในเวลานี้

โลกปรับ สังคมเปลี่ยน หากเราไม่ปรับตัว เรียนรู้ เสริมทักษะ เพื่อพัฒนาตัวเองก็เห็นจะไม่ได้ เพราะเวลาไม่คอยท่า อนาคตไล่ล่าเรา!

ที่มา : www.smemestyle.com