Digital Education..เมื่อ ‘เกม’ กลายเป็น ‘ติ่ง’ ของการศึกษา

2051

เมื่อ ‘เกม’ กลายเป็นหนึ่งเครื่องมือในระบบการศึกษาสมัยใหม่ รัฐ-เอกชน-แรงงาน-การศึกษา จึงต้องระดมสมอง กำหนดทิศทางระบบการศึกษาแห่งอนาคตด้วยดิจิทัล

วิทยา มิตรศรัทธา

นายวิทยา มิตรศรัทธา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนซิส มีเดียคอม จำกัด ผู้จัดงานเสวนา “การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ด้วยระบบดิจิทัล : สร้างคน สร้างชาติ เพื่อศักยภาพไทยสู่สากล” กล่าวว่า แนวคิดระบบการศึกษาใหม่ (Modern Education) มีความยืดหยุ่นสูง ไม่ยึดรูปแบบ เน้นผลลัพธ์ความสำเร็จของผู้เรียนเป็นเกณฑ์ มีการนำทฤษฎีการเล่นมาใช้ เพราะเด็กๆชอบเล่น จึงต้องนำเรื่องเรียนไปใส่ในการเล่น เช่น การใช้ระบบเกมการศึกษา เกมเพื่อการเรียนรู้ (Game Based Learning and Gamification) หรือการสร้างเกมการศึกษาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างง่าย ประหยัดและสะดวก มีความสนุกสนาน ทำให้ผู้เรียนสามารถรับความรู้ได้เร็วและจดจำได้ดี ที่ผ่านมาบริษัทเจเนซิสฯได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นชื่อ ควิซบุ๊ก (QuizBook) เป็นแอปพลิเคชั่นที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ผ่านการถามและตอบ เป็นความรู้รอบตัวต่างๆ เช่น ความรู้ทางวิชาการและนอกวิชาการ สุขภาพ การออกกำลังกาย อาหาร ยารักษาโรค บันเทิง ศิลปะ ประวัติศาสตร์ ความรู้ของโลก ฯลฯ มีคำถามมากกว่า 50,000 คำถาม สามารถเล่นคนเดียวกับบ็อท (Application Based Al-Robot) หรือชวนเพื่อนแข่งตอบคำถามต่างสถานที่กันได้  และอีกระบบหนึ่งคือ Project Based Learning เป็นการสอนที่สร้างการเรียนรู้ผ่านโครงงาน มีเป้าหมายให้นักเรียนใช้ความคิดร่วมกัน ทำงานเป็นทีม เกิดความสนุกสนาน เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยเทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อมโยง โดยเฉพาะเมื่อสังคมทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ แนวความคิดด้านการศึกษาสมัยใหม่จึงต้องเปลี่ยนแปลงด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านสารสนเทศ (ไอซีที) จัดทำ ‘โซลูชั่นเพื่อการศึกษา หรือดิจิทัลแพลตฟอร์ม’ อย่างจริงจัง

สมเกียรติ สรรคพงษ์

ด้านนายสมเกียรติ สรรคพงษ์ ที่ปรึกษาเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในงานเสวนาดังกล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้จัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อการศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล

ผศ.ชวลิต สูงใหญ่ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต มศว.ฝ่ายมัธยม กล่าวว่า การพัฒนาระบบการเรียนการสอนต้องมีขั้นตอนและมีความสอดคล้อง เช่น เด็กในวัยอนุบาล-ประถม ต้องเน้นการฟัง อ่าน และ เขียน เมื่อก้าวเข้าไปในระดับมัธยมคือขั้นตอนการค้นหาตัวเอง ขณะที่การเลือกเรียนเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายใดนั้นจะเห็นภาพชัดเจนในระดับอุดมศึกษา

นายสุรพล พลอยสุข รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ระบบการศึกษายุคใหม่ต้องมีความชัดเจนในการสร้างหลักสูตรเพื่อผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมในอนาคต เพราะปัจจุบันสถานประกอบการไม่เปิดโอกาสให้นักศึกษาจบใหม่มาเรียนรู้งานเหมือนในอดีตอีกแล้ว แต่ต้องการรับคนที่สามารถเข้าไปทำงานได้เลย

นิค ฮัตตั้น

นายนิค ฮัตตั้น Regional Director, Asia D2L Asia Pte.Ltd. กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงว่าภายใน 10 ปีนี้หุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์มากถึง 50% เนื่องจากการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์มีความก้าวหน้าอย่างมาก หากระบบการศึกษาไม่เร่งพัฒนาปรับปรุงหลักสูตร นักศึกษาที่จบมาอาจไม่มีงานรองรับในอีก 10 ปีข้างหน้า

ดร.มนธ์สินี กีรติไกรนนท์ Thailand Partner & Country Director Detecon Asia-pacific Ltd. กล่าวว่า งานวิจัยและพัฒนาเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาระบบการศึกษาไทย แต่ขณะนี้ประเทศไทยมีงบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนาไม่ถึง 1% เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องเร่งหาทางแก้ไขเพื่อให้การศึกษาไทยเข้าถึงระบบดิจิทัลอย่างแท้จริง

นายสนั่นพงษ์ สุขดี ประธานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัด กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าดิจิทัลคือการปฏิวัติระบบการศึกษาไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างไร้ขีดจำกัด