‘ม.มหิดล’ พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อผู้ป่วยกายภาพบำบัด ตอบโจทย์ชีวิตยุค New Normal

805

วันที่ 27 พฤศจิกายน ของทุกปี กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เป็น “วันสาธารณสุขแห่งชาติ” เพื่อการรณรงส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับสาธารณสุขแก่ประชาชน นอกจากบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพประชาชน ทั้งในด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกัน การรักษาโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ตาม พ.ร.บ.วิชากายภาพบำบัด พ.ศ.2547 แล้ว นักกายภาพบำบัด คือ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเคลื่อนไหวและใช้การรักษาตามหลักฟิสิกส์ ซึ่งจากความเป็นเลิศทางด้านการเรียนการสอนและการวิจัยด้านกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัดของคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ส่งผลให้ศูนย์กายภาพบำบัดของคณะฯ ได้รับการรับรองจาก สภากายภาพบำบัด กระทรวงสาธารณสุข ในระดับดีเยี่ยม และได้เป็น Hub ฝึกปฏิบัติงานและดูงานทางคลินิกของนักศึกษากายภาพบำบัดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รองศาสตราจารย์ ดร. กภ.จารุกูล ตรีไตรลักษณะ คณบดีคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล มีพันธกิจหลักในการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการสุขภาพ เป็นเวลาเกือบ 20 ปีที่คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดตั้งศูนย์กายภาพบำบัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการฝึกปฏิบัติทางคลินิกของนักศึกษา และเพื่อให้บริการประชาชน รวมทั้งเป็นแหล่งบูรณาการพันธกิจการศึกษา วิจัยและบริการสุขภาพ โดยปัจจุบันศูนย์กายภาพบำบัดของคณะฯ มีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับบริการทั้งที่ศาลายาและปิ่นเกล้า ประมาณ 150,000 รายต่อปี แม้ในช่วงวิกฤต Covid-19 ที่ผ่านมาที่ทางคณะฯ มีความจำเป็นต้องหยุดบริการชั่วคราวตามมาตรการรักษาระยะห่าง (Social Distancing) แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ริเริ่มให้มีระบบ “โทรเวชกรรม” (Teleconsultation) หรือการให้คำปรึกษาและให้บริการทางกายภาพบำบัดทางไกลสำหรับผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการบำบัดอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถฝึกทำกายภาพบำบัดได้ด้วยตัวเองที่บ้าน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุขที่ส่งเสริมให้ประชาชนได้หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเอง ตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อการมีสุขภาพดีที่ยั่งยืน

ศูนย์กายภาพบำบัดทั้ง 2 แห่งของคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมให้บริการประชาชนแบบ Direct Access ที่ผู้ป่วยสามารถเดินเข้ามารับบริการได้โดยตรงอย่างครบวงจร ทั้งในส่วนของกายภาพบำบัด (Physical Therapy) และกิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางการบำบัด หรือ Therapist ได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพ โดยนักกายภาพบำบัด ใช้คำนำหน้า “ก.ภ” และ นักกิจกรรมบำบัด ใช้คำนำหน้า “ก.บ.” ซึ่งยุทธศาสตร์การบริหารคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล คือ การยกระดับวิชาชีพของนักกายภาพบำบัด และนักกิจกรรมบำบัด ให้เข้ามาตรฐานสากล ซึ่งตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นพันธมิตรทางด้านการแลกเปลี่ยนวิชาการ นักศึกษา และบุคลากร กับ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University) หรือ NTU ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยระดับ World Class สามารถการันตีได้ถึงความพร้อมในการมุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติได้เป็นอย่างดี

นอกจากการให้บริการทางกายภาพบำบัดทั่วไปแล้ว ศูนย์กายภาพบำบัดของคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมให้บริการด้วยคลินิกเฉพาะทางเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยอย่างตรงจุด โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้เปิดคลินิกเฉพาะทางกระตุ้นสมองผ่านกะโหลกศีรษะ (TMS) ร่วมกับกายภาพบำบัดเฉพาะทาง และต่อไปจะเปิด “คลินิกวอยต้า” (Vojta) อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการบำบัดโดยใช้ “เทคนิค Vojta Reflex Model” ที่พัฒนาโดย นายแพทย์วาคลาฟ วอยต้า (Dr.Vaclav Vojta, MD.) ชาวเช็ก (Czech) ซึ่งเป็นเทคนิคที่เชื่อว่าจะสามารถช่วยบำบัดผู้ป่วย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ด้วยการกดจุดเฉพาะที่ โดยศูนย์กายภาพบำบัดของ คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล มีผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดด้วยเทคนิควอยต้าซึ่งได้รับใบอนุญาต Vojta Certified Therapist จากศูนย์วอยต้าแห่งประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มากที่สุดในประเทศไทย

และเพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตปกติใหม่ (New Normal) ก้าวต่อไป คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล จะร่วมกับ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) พัฒนาแอปพลิเคชัน ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์สำหรับประชาชน ในการรักษา ตรวจประเมิน และติดตามผู้ป่วยทางกายภาพบำบัดแบบ One Stop Service ผ่านระบบออนไลน์ ตามโครงการ “Digital Convergence University” หรือ DCU ซึ่งเป็นโครงการของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้รับการสนับสนุนจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สู่การเป็น SMART UNIVERSITY โดยจะมีการจดสิทธิบัตรต่อไป