คปภ. เร่งช่วยเหลือด้านประกันภัยผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บจากกรณีท่อส่งก๊าซระเบิด

780

คปภ. เร่งช่วยเหลือด้านประกันภัยกรณีเสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บกว่า 50 ราย จากกรณีท่อส่งก๊าซระเบิด ที่จังหวัดสมุทรปราการ ลงพื้นที่ร่วมบูรณาการตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือด้านการประกันภัย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

            ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุท่อส่งก๊าซของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระเบิด บริเวณข้างโรงเรียนเปร็งวิสุธาธิบดี หมู่ 4 ตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 3 ราย บาดเจ็บ 50 ราย บ้านพักอาศัยของประชาชนได้รับเสียหาย 34 หลังคาเรือน รถยนต์ได้รับความเสียหาย จำนวน 62 คัน รถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย จำนวน 59 คัน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 โดยเบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 6 (ชลบุรี) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดสมุทรปราการ เร่งช่วยเหลือและสำรวจความเสียหายอย่างเร่งด่วน โดยได้มีการลงพื้นที่บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสมุทรปราการ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งติดตามและตรวจสอบข้อมูลด้วยว่า มีการทำประกันอัคคีภัย การประกันภัยรถยนต์ การประกันชีวิต หรือประกันภัยประเภทอื่นๆ ไว้หรือไม่ เพื่อใช้ระบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม   

            ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดสมุทรปราการ และข้อมูลที่บริษัทประกันภัยรายงานข้อมูลการทำประกันภัยผ่านระบบแจ้งอุบัติภัยรายใหญ่เบื้องต้น พบว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำประกันภัยไว้กับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ที่ให้ความคุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัย ตามกรมธรรม์เลขที่ 14019-111-200000604 กรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองวันที่ 1 ตุลาคม 2563 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 จำนวนเงินเอาประกันภัย 40,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดบุคคลภายนอกที่ให้ความคุ้มครองความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย การบาดเจ็บ และทรัพย์สินของบุคคลภายนอกที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดตามกฎหมาย กรมธรรม์เลขที่ 14013-111-200000312 กรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองวันที่ 1 ตุลาคม 2563 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 จำนวนเงินเอาประกันภัย 50,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ และกรมธรรม์ประกันภัยรับผิดตามกฎหมายอันเกิดจากการประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 3 ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการควบคุมก๊าซธรรมชาติ เริ่มความคุ้มครองวันที่ 1 มกราคม 2563 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 คุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 200,000 บาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาลตามความเสียหายที่แท้จริงไม่เกิน 200,000 บาทต่อคน ความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้ได้รับความเสียหายตามความเสียหายที่แท้จริง แต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยตามประเภทกิจการควบคุมประเภทที่ 3 ส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจก๊าซธรรมชาติ โดยคุ้มครองรวมกันสูงสุดไม่เกิน  450,000 บาทต่อครั้ง  

            สำหรับการติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยของผู้เสียชีวิต จำนวน 3 ราย ผู้บาดเจ็บ จำนวน 50 ราย รักษาตัวและกลับบ้านแล้ว 37 ราย รักษาตัวต่อที่โรงพยาบาล จำนวน 13 ราย อยู่ระหว่างการติดตามผลคดีที่เกิดขึ้น รวมถึงตรวจสอบข้อมูลการจัดทำประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุเพิ่มเติม ซึ่งหากพบว่าไม่ได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ที่ได้จัดทำไว้ สำนักงาน คปภ.จะเร่งดำเนินการติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพื่อให้เป็นไปตามสัญญาประกันภัยโดยเร็วที่สุด

            ส่วนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ บ้านพักอาศัยและทรัพย์สินอื่น ๆ ของประชาชนที่ได้รับความเสียหาย อยู่ระหว่างการตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลความเสียหายจากเจ้าของทรัพย์สิน ผ่านศูนย์ประสานงานช่วยเหลือด้านการประกันภัย อย่างไรก็ตาม รถที่ได้จัดทำประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 1 หรือ ประเภท 2 (กรณีเสียหายจากไฟไหม้) หรือประเภท 2 พลัส (กรณีเสียหายจากไฟไหม้)  ไว้ จะได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ ซึ่งขณะนี้เจ้าของรถได้แจ้งข้อมูลความเสียหายของรถยนต์แล้ว จำนวน 16 คัน มีประกันภัยรถภาคสมัครใจ จำนวน 5 คัน ไม่มีประกันภัยรถภาคสมัครใจ จำนวน 11 คัน นอกจากนี้อยู่ระหว่างการติดตามและประสานงานกับเจ้าของทรัพย์สินโดยเร่งด่วน

            “สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ท่อส่งก๊าซระเบิดในครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเช่นนี้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ จึงฝากเตือนมายังประชาชนควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยควรทำประกันอัคคีภัย ประกันภัยรถยนต์ ประกันภัยอุบัติเหตุ ประกันชีวิต และประกันภัยอื่นๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย