‘น่านโมเดล’ 1 ตำบล 1 นวัตกรรมเกษตร

2445

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  ผนึกหน่วยงานเครือข่าย นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เข้าไปสร้างอาชีพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในระดับฐานราก  โดยได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20-21 เมษายน 2561   ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานีวิจัยวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีผาสิงห์ ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง  จังหวัดน่าน โดย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “มหกรรมวิทย์สร้างอาชีพ ยกระดับภูมิภาค”  ร่วมกับเครือข่าย ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สภาเกษตรกรแห่งชาติ  กรมพัฒนาชุมชน และโครงการสานพลังประชารัฐ

ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า  งาน “มหกรรมวิทย์ ยกระดับภูมิภาค” นี้ ถือเป็นการเปิดตัว 2 โครงการใหญ่ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯอย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย โครงการ “1 ตำบล 1 นวัตกรรมเกษตร” ช่วยสร้างโอกาสให้เกษตรกรส่วนใหญ่เข้าถึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการเกษตร ผ่านการสร้างนวัตกรรมเกษตรจากการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ

“โครงการ 1 ตำบล 1 นวัตกรรมเกษตร เป็นการต่อยอดมาจากโครงการพัฒนาเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม   เมื่อปี  2560  ที่ วว. ประสบผลสำเร็จในการนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการเกษตรที่ตรงกับความต้องการและพร้อมใช้ถ่ายทอดให้กับเกษตรกรผ่านการสาธิต/อบรมเชิงปฏิบัติการ จำนวนทั้งสิ้น 4,164 ราย สามารถเพิ่มความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการเกษตรให้กับเกษตรกรได้เป็นร้อยละ 76 รวมถึงพัฒนาทักษะและขีดความสามารถในการผลิต การแปรรูป และการจัดจำหน่าย สร้างผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรจากเกษตรกรที่ขายผลผลิตในรูปวัตถุดิบจำนวน 1,180 ราย พัฒนา/ยกระดับผลิตภัณฑ์ได้ 23 ผลิตภัณฑ์ และสร้างชุมชนเกษตรนวัตกรรม ที่เป็นต้นแบบการพัฒนาระบบการจัดการเกษตรด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับยุคสมัย จำนวน 3 ชุมชน” ดร.ลักษมี กล่าว

โครงการ “1 ตำบล 1 นวัตกรรมเกษตร”   กำหนดระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี โดยเป้าหมายของโครงการในช่วง 8 เดือนแรก (ปีงบประมาณ 2561)     คือ สร้างนวัตกรรมเกษตรจากการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก่อให้เกิดนวัตกรรมเกษตรในพื้นที่ทั่วประเทศ 878 อำเภอ  ส่วนในปีที่ 2 จะขยายผลสร้างองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก่อให้เกิดนวัตกรรมเกษตรในพื้นที่ 3,500 ตำบล ผ่านเครือข่ายการวิจัยแบบมีส่วนร่วมทางการเกษตร 878 เครือข่าย  และปีที่ 3 ขยายผลสร้างองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก่อให้เกิดนวัตกรรมเกษตรในพื้นที่ 7,255 ตำบล ผ่านเครือข่ายการวิจัยแบบมีส่วนร่วมทางการเกษตร 878 เครือข่าย

ส่วนอีกโครงการหนึ่งที่สำคัญคือ โครงการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์เพื่อเศรษฐกิจและสังคมฐานราก เพื่อยกระดับ OTOP ในพื้นที่ 10 จังหวัดเป้าหมาย  ซึ่งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.)  ร่วมกันดำเนินงานยกระดับสินค้าโอทอปในพื้นที่ 10 จังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน นราธิวาส ปัตตานี กาฬสินธุ์ นครพนม ชัยนาท ตาก บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ และจังหวัดน่าน   เพื่อนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาและจัดระเบียบองค์ความรู้แล้ว ไปถ่ายทอดสู่ OTOP 2,000 กลุ่ม/ราย ใน 10 จังหวัดดังกล่าว ผ่านกลไกการดำเนินงานของหน่วยงานภายในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลไกประชารัฐ และผู้เชี่ยวชาญภายนอกกระทรวงฯ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฏ สถาบันอาชีวศึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาในพื้นที่

วว.และ วศ. เชื่อมั่นว่าจากความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงาน และประสบการณ์ในการผลักดันและสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและการทดสอบในห้องปฏิบัติการไปพัฒนากระบวนการผลิตสินค้า OTOP เพื่อให้ได้มาตรฐาน โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการสินค้า OTOP ทั้ง 5 ประเภท ได้แก่ อาหาร, เครื่องดื่ม, สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร, ผ้าและเครื่องแต่งกาย และของใช้ของประดับและของที่ระลึก สร้างขีดความสามารถให้วิสาหกิจฐานรากมีความรู้สามารถพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับคุณภาพมาตรฐานให้กับสินค้า สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า และขยายโอกาสเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชนทั่วทุกภูมิภาคตามเป้าหมายการพัฒนาประเทศของรัฐบาล” ผู้ว่าการ วว.กล่าวสรุป

บัณฑูร ล่ำซํา

อนึ่ง งาน “มหกรรมวิทย์สร้างอาชีพ ยกระดับภูมิภาค” นี้มีกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการโอทอปในจังหวัดน่าน และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา และแพร่ รวมกว่า 500 คน เพื่อร่วมกิจกรรรมฯ ตลอดทั้งสองวัน ประกอบด้วย การบรรยายพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หน่วยงานภาครัฐ สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานเอกชน อาทิ เรื่อง “น่านโมเดล” โดย คุณบัณฑูร ล่ำซํา ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย จํากัด (มหาชน) พร้อมทั้งการเสวนา เรื่อง “วทน. ยกระดับภูมิภาคได้อย่างไร” รวมทั้ง การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการทางด้านนวัตกรรมการเกษตร อาทิ เรื่องเตาชีวมวลเพื่อชุมชน การหมักปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง และการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับสินค้าโอทอป อาทิ ความรู้ด้านวัสดุบรรจุภัณฑ์อาหารและการเลือกวัสดุบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์อาหาร/ข้อกำหนดทางกฎหมายฉลากบรรจุภัณฑ์ หลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร/กฎหมายอาหารที่ผู้ประกอบการควรรู้  เทคโนโลยีในการยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นต้น