เกษตรกรพร้อมเปิดข้อสงสัยการแบนพาราควอต ภาคประชาคมเกษตรกรกว่า 500,000 ราย เดินหน้าพบนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเดิม “อนุญาตให้ใช้พาราควอต” โชว์มูลค่าความเสียหายทางผลผลิตเกษตร 6.5 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมความเสียหายของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กระทบรัฐเตรียมดึงภาษีประชาชนมาแก้ไขปัญหา ย้ำขอให้ตัดสินจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก
นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เกษตรกรกว่า 500,000 ราย ขอประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันขอยืนยันมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเดิม “อนุญาตให้ใช้พาราควอต” ภายใต้มาตรการจำกัดการใช้ฯ เนื่องจากตลอดสองปีกว่าที่ผ่านมา เกษตรกรเป็นผู้รับเคราะห์มาโดยตลอด มีการจัดตั้งคณะทำงานหลายชุดตามข้อเสนอแบนสารเคมีของกระทรวงสาธารณสุข องค์กรอิสระ เอ็นจีโอ ท้ายที่สุดมติจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายก็ระบุชัดว่า “ข้อมูลต่าง ๆ ของฝ่ายแบนนั้น หลักฐานไม่เพียงพอ” แสดงให้เห็นว่า “ข้อมูลเหล่านั้นไม่มีน้ำหนัก ขาดความน่าเชื่อถือมาโดยตลอด” แต่ฝ่ายเสนอแบนไม่เคยยอมรับมติ เผยแพร่ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อตัวเกษตรกร ต้นทุนพุ่ง กระทบต่อเศรษฐกิจการเกษตร สินค้าปลอมและสารเคมีนำเข้าผิดกฎหมายเกลื่อน ไทยสูญเสียความน่าเชื่อถือในการส่งออก ที่บอกว่าปาล์มน้ำมันทั่วโลกเลิกใช้พาราควอต เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จริงๆแล้วมาตรฐาน RSPO เป็นมาตรฐานสมัครใจ ก็ยังให้ใช้พาราควอตตามเงื่อนไขที่จำเป็น และเป็นไปตามกฏระเบียบของประเทศ ตอนนี้อินโดนีเซียเองก็ยังออกจากมาตรฐาน RSPO มาใช้มาตรฐานของตนเอง รวมทั้ง คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายฯ เคยรายงานต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้วว่า ไม่มีข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงได้อย่างชัดเจนกับข้อกล่าวอ้างว่าพาราควอตเป็นสารก่อมะเร็ง โรคผิวหนังอักเสบเนื้อเน่า การถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกนั้น ล้วนแต่ขาดความชัดเจนของข้อมูล
นายวราวุธ ชูธรรมธัช รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “ประเทศไทยจะพึ่งเกษตรอินทรีย์ทั้งหมดไม่ได้ ต้องพึ่งเกษตรเคมีด้วย ดังนั้นใครถนัดวิถีไหน ก็ทำไป และเป็นเรื่องที่ดีที่เกษตรกรออกมาให้ข้อมูล จะได้เป็นการให้ข้อมูลทั้งสองด้าน ไม่ใช่ให้ข้อมูลแต่เพียงด้านเดียว หากมีการแบน ต้นทุนเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคก็ต้องรับภาระราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น”
สิ่งที่เกษตรกรสงสัยที่สุดตอนนี้คือความพยายาม “แบนพาราควอต” อย่างรุนแรง และไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ควบคู่ไปกับความพยายาม “ผลักดันสารเคมีทดแทนตัวใหม่” ที่ราคาแพงกว่า แถมสารที่แนะนำเอ็นจีโอที่อังกฤษบอกว่าก่อมะเร็งและทำลายระบบประสาท สามารถตกค้างในสิ่งแวดล้อม ซึ่งสารทดแทนที่แนะนำนี้ ขายในไทยมานานแล้ว แต่เกษตรกรไม่ใช้เหตุเพราะแพงและอันตรายกว่า
“เกษตรกร 500,000 ราย อยากร้องขอ “นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน” ที่ได้รับเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่จากเกษตรกร “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” “กรมวิชาการเกษตร” พิจารณาจากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ไม่ตามกระแสสังคม เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นประเทศชาติเสียหาย ประชาชนเดือดร้อน ต้องนำภาษีประชาชนมาใช้อีกกี่แสนล้านบาทมาแก้ปัญหา” นายมนัส กล่าว