เงินบาทแข็งค่าเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยตรงไหน? By…Econ

1470
ภาพ : อินเตอร์เน็ต

เงินบาทกำลังเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์

ในประเด็น..การแข็งค่า

เคยใช้เงิน 32 บาทแลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ตอนนี้ใช้แค่ 30 บาทกว่าๆแลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

มองเผินๆ ก็น่าจะดี เพราะแสดงให้เห็นศักยภาพค่าบาทที่ทรงพลังขึ้น

นั่นสิ..แล้วส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยยังไง?

 

ประเด็นหลักเลยเพราะค่าเงินบาทถือเป็นตัวแปรสำคัญต่อผลกำไรขาดทุนในการทำธุรกิจส่งออก

จึงเห็นกลุ่มผู้ส่งออกพาเหรดออกมากดดันธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติรายวัน

หลายคนอาจทึกทักว่า

ผู้ส่งออกเอาแต่ได้!!!

ตอนค่าเงินบาทอ่อน เงียบกริบ! โกยกำไรกันเพลิน

พอเงินบาทแข็งค่าขึ้นบาทสองบาทพูดกันสนั่นเมือง

ฝ่ายผู้ส่งออกก็ออกมาตอกกลับว่า เรื่องค่าเงินบาทจะแข็งหรืออ่อนนั้นไม่ใช่ประเด็น แต่ไฮไลท์อยู่ที่การแข็งค่านั้นสูงกว่าทั่วโลก

หลายเปอร์เซ็นต์!

ทำให้อำนาจการแข่งขันสินค้าไทยในตลาดโลกหดหายไป

นำมาสู่ปัญหา ‘ทุนหาย กำไรหด’

 

สมมติตั้งราคาส่งออกสินค้า 1 ล้านชิ้น ในอัตราค่าเงิน 1 เหรียญสหรัฐฯต่อ 32 บาท ได้กำไรชิ้นละ 1 บาท เท่ากับกำไร 1 ล้านบาท

ทำสัญญาเสร็จสรรพ ถึงวันรับเงินค่าเงินบาทแข็งขึ้นเป็น 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

เท่ากับว่ากำไร 1 ล้านบาทหายไปเห็นๆ!!!

แล้วถ้าไม่ได้ตั้งกำไรในราคาชิ้นละ 1 บาท แต่เป็นชิ้นละ .50 บาท หรือ .25 บาท กลายเป็นติดลบไปอีก

เพราะฉะนั้น ในช่วงที่ค่าเงินบาทผันผวนไปถามผู้ส่งออกว่าตั้งเป้าหมายออเดอร์ปีนี้ไว้เท่าไหร่ จะถูกสวนกลับทันทีว่า

ตั้งไปก็ไม่มีความหมาย!!

เพราะยิ่งขายมากยิ่งขาดทุน

ขอขึ้นราคาลูกค้าก็ไม่ยอม ไม่ขายไม่ว่า เขาไปหารายใหม่ก็ได้

บางรายจำเป็นต้องกัดฟันทนเพื่อเอาเงินมาหมุนใช้ในธุรกิจและรักษาฐานลูกค้าไว้

 

จำได้ว่าช่วงปลายปี 2548 ต่อเนื่องปี 2551 ถือเป็นช่วงหนึ่งที่ค่าเงินบาท

ผันผวนมากที่สุด!!!

ช่วงปลายปี 2548 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 40 บาท พอต้นปี 2549 เหลือ 39 บาท หลังจากนั้นก็ทยอยดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง

เมื่อค่าเงินบาทแตะที่ 38 บาท ผู้ส่งออกต่างก็ร้องระงมว่าวิกฤติแน่ หากค่าเงินบาทแตะที่ 37 บาทเมื่อไหร่จะต้องปิดกิจการกันเป็นลูกโซ่

ในที่สุดพอถึงต้นปี 2551 เงินบาทก็ไปหยุดนิ่งอยู่ที่ 31 บาทกว่าๆ

นับมูลค่าของเม็ดเงินที่หายไปจากการแข็งค่าของเงินบาทเทียบกับปริมาณการส่งออกสินค้าของประเทศไทยทั้งประเทศขณะนั้นเท่ากับว่าเม็ดเงินหายไป

มากกว่า 1 ล้านล้านบาท!!!

 

เคยถามผู้ส่งออกว่าเขาหาวิธีแก้ปัญหาอย่างไร คำตอบคือลดยอดส่งออกแล้วหันมาทำตลาดในประเทศแทน

หรือถ้ายังจำเป็นต้องส่งออกก็ต้องคำนวณเผื่อเหลือเผื่อขาดอย่างรัดกุม เช่น ค่าเงินบาทขณะนั้นอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ต้องคิดล่วงหน้าไปเลยว่าค่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าขึ้นไปอีก 1-2 บาท

คือทำอย่างไรก็ได้ให้ให้บวกลบคูณหารแล้วขายได้ในราคา 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

เรียกว่าต้องพลิกแพลงตะแคงกลยุทธกันจนหอบ!!!

 

ที่สำคัญโครงสร้างเศรษฐกิจไทย 70% ยังอาศัยเม็ดเงินจากการส่งออกมาขับเคลื่อนจีดีพี

เมื่อการส่งออกมีปัญหาจึงกระทบจีดีพีประเทศไทยอย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างปีนี้รัฐบาลตั้งเป้าการส่งออกไว้ว่าจะเติบโต 8% ผ่าน 3 เดือนแรกต้องปรับตัวเลขเหลือ 5% ผ่านครึ่งปีแรกต้องปรับลดเป้าเหลือ 3%

วันนี้หลายสำนักพยากรณ์ฟันธง..มีแววติดลบ

เพราะหลายปัจจัยรุมเร้า

ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับอียู

แถมเงินบาทไทยยังแข็งค่ามากที่สุดในโลก แข็งค่ากว่าประเทศในอาเซียนหลายเปอร์เซ็นต์

กระทบถึงการท่องเที่ยว

เคยใช้ 1 ดอลลาร์สหรัฐแลกได้ 32 บาท เหลือแค่ 30 บาทกว่าๆ เลยหันไปเที่ยวประเทศอื่นที่ค่าเงินอ่อนกว่าแทน

เป็นเหตุให้ต้องปรับประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีประเทศลงมา

จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 3.7-40

ปรับลดลงมาเหลือ 2.9-3.3

เพราะคาดว่าเม็ดเงินปีนี้คงหายไปหลายแสนล้าน

โดยเฉพาะเม็ดเงินจากการส่งออกนั่นเอง!!!