‘เชียงใหม่’ ดินแดนแห่งการปลูกเมล็ดกาแฟ ‘พาณิชย์’ แนะเกษตรกรใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ

997

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ สภาเกษตรกรแห่งชาติ และสมาคมกาแฟไทย ขึ้นเหนือเสริมแกร่งเกษตรกรและผู้ประกอบการ ยกระดับกาแฟไทย เร่งส่งเสริมเรื่องการตลาดและการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ พัฒนาองค์ความรู้ พร้อมขยายตลาดกาแฟไทยสู่ต่างประเทศ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนา เรื่อง “การเพิ่มศักยภาพกาแฟไทยในยุคการค้าเสรี” เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 ณ ศูนย์การเรียนรู้กาแฟ เดอะ คอฟฟีเนอรี่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ว่า การสัมมนาครั้งนี้ มีวิทยากรจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมให้ความรู้เรื่องสถานการณ์กาแฟไทยและโลก การใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอขยายตลาดกาแฟ และการเพิ่มมูลค่ากาแฟ เช่น การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น รวมทั้งมีผู้แทนจากสมาคมกาแฟไทย สมาคมบาริสต้าไทย กลุ่มวิสาหกิจพยัคฆ์กาแฟ และบริษัท พานาคอฟฟี่ จำกัด เข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องการพัฒนาคุณภาพและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กาแฟไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก

นางอรมน เสริมว่า การสัมมนาครั้งนี้ ทุกภาคส่วนเห็นตรงกันว่า คุณภาพเป็นสิ่งสำคัญ หากสามารถรักษาคุณภาพ มาตรฐาน ของกาแฟได้อย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก การเก็บ การคั่ว และแปรรูป จะทำให้กาแฟไทยมีความน่าเชื่อถือและได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค นอกจากนี้ การรวมกลุ่มของเกษตรกรในพื้นที่ยังสามารถช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ลดต้นทุนการผลิตสินค้า และสร้างอำนาจการต่อรอง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการสัมมนาให้ความรู้ กรมฯ ได้ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ต.เทพเสด็จ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2563 พบว่า จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่และภูมิอากาศที่เหมาะสมในการปลูกกาแฟสายพันธุ์อะราบิกา โดยปัจจุบันเชียงใหม่มีพื้นที่ปลูกกาแฟมากถึง 19 อำเภอ สำหรับอำเภอดอยสะเก็ด มีการปลูกกาแฟมากเป็นอันดับ 1 ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพื้นที่ปลูกถึง 7,414 ไร่ นอกจากนี้ เกษตรกรในพื้นที่ยังมีความพร้อม มีศักยภาพในการแข่งขัน และมีความใส่ใจในเรื่องคุณภาพ เนื่องจากมีการรวมกลุ่มควบคุมคุณภาพตั้งแต่การปลูกไปจนถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกาแฟเทพเสด็จได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) แล้ว โดยกระทรวงพาณิชย์สามารถเข้าไปช่วยส่งเสริมเรื่องการตลาดและการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) พัฒนาองค์ความรู้ในการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ขยายตลาดกาแฟไทยสู่ต่างประเทศ รวมทั้งเรื่องการจดเครื่องหมายการค้า และการขยายเฟรนไชส์ เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น

ทั้งนี้ ระหว่างปี 2558 – 2562 ไทยมีความต้องการใช้เมล็ดกาแฟในประเทศ เฉลี่ย 78,953 ตันต่อปี แต่สามารถผลิตเมล็ดกาแฟได้ เฉลี่ย 26,161 ตันต่อปี ทำให้ความต้องการใช้เมล็ดกาแฟของไทยมีปริมาณมากกว่าผลผลิต ซึ่งหากพัฒนาศักยภาพและคุณภาพของกาแฟไทยอย่างสม่ำเสมอและยั่งยืน จะช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงแก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในระยะยาว เพราะตลาดกาแฟยังมีความต้องการเมล็ดกาแฟดิบที่มีคุณภาพอีกมาก ขณะเดียวกันการค้าเสรีจะทำให้ไทยสามารถนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบที่หลากหลายได้ ทำให้ได้เปรียบในเรื่องต้นทุน สามารถนำไปแปรรูปต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย เป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งนี้ ในปี 2562 ไทยส่งออกกาแฟสำเร็จรูป 22,928 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,633 ล้านบาท โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และจีน คิดเป็นอันดับที่ 11 ของโลก