อ.ต.ก. เดินหน้ายกระดับสินค้าเกษตรพรีเมียมไทย สู่แบรนด์คุณภาพระดับโลก

345

อ.ต.ก. เดินหน้ายกระดับสินค้าเกษตรพรีเมียมไทย สู่แบรนด์คุณภาพระดับโลก พร้อมโรดโชว์ต่างประเทศในตลาดศักยภาพสูง

องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เผยแผนการดำเนินงานครึ่งปีหลัง 2568 พร้อมเดินหน้ายกระดับสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดพรีเมียม สร้างการรับรู้แบรนด์สินค้าเกษตรไทยในตลาดโลก และเตรียมจัดโรดโชว์ Thailand Agri Intertrade ใน 3 ประเทศศักยภาพสูง ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย อิสราเอล และจอร์แดน โดยมุ่งวางตำแหน่งสินค้าเกษตรไทยให้เป็นมากกว่าสินค้าทางการเกษตร แต่เป็น “สินค้าแห่งคุณภาพและวัฒนธรรมไทย

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และประธานกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กล่าวว่า “อ.ต.ก. ในวันนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงจัดการตลาดสินค้าเกษตรเหมือนในอดีต แต่ได้ปรับบทบาทมาเป็น ‘แขนของรัฐ’ ด้านการตลาดอย่างแท้จริง ทำงานประสานกับกรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะฝ่ายผลิต เพื่อร่วมกันผลักดันเกษตรกรไทยให้ก้าวสู่ตลาดพรีเมียมได้อย่างเป็นรูปธรรม

เรามุ่งหมายให้ อ.ต.ก. เป็นเวทีให้เกษตรกรได้เรียนรู้ตลาดจริง พัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และสร้างความแตกต่างในระดับนานาชาติ ผ่านการวางตำแหน่งแบรนด์สินค้าไทยให้มีคุณภาพ มีเรื่องราว และมีเอกลักษณ์ของตนเอง”

“อ.ต.ก. คือพันธมิตรยุทธศาสตร์ (Strategic Partner) ของเกษตรกรไทย”

จากบทบาทดั้งเดิมของการเป็นเพียงผู้จัดการตลาดสินค้าเกษตร อ.ต.ก. ได้ปรับบทบาทสู่การเป็น Strategic Partner หรือพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ของเกษตรกร ผ่านการพัฒนาโมเดลตลาดสมัยใหม่ เช่น Digital Marketplace การให้เกษตรกรขายตรงถึงผู้บริโภค (B2C) และขยายช่องทางเชิงพาณิชย์ผ่านการเป็น Trader และ Trade Agent

นายปณิธาน มีไชยโย ผู้อำนวยการ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กล่าวว่า แผนการดำเนินงานในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เน้นการผลักดันยอดขายโดยตรง แต่เป็นการวางรากฐานด้านแบรนด์ การสร้างความเชื่อมั่น และการเจาะตลาดพรีเมียมในระดับนานาชาติ เพื่อให้ผู้บริโภคต่างชาติเริ่มรู้จักสินค้าไทยในฐานะสินค้าที่มีคุณภาพสูง มีเอกลักษณ์ และมีความคุ้มค่าต่อราคาที่จ่าย นอกจากนั้น ตลาด อ.ต.ก. ยังถูกพัฒนาให้เป็นมากกว่าสถานที่ซื้อขาย แต่เป็น “Market Experience” ที่มอบประสบการณ์แก่ผู้บริโภค ทั้งในเชิงรสชาติ วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม และเรื่องราวของผู้ผลิต สินค้าไทยดีอยู่แล้ว แต่ต้องทำให้โลกเห็น” จึงเป็นที่มาของกลยุทธ์ผลักดันสินค้าเกษตรไทยสู่พรีเมียม

“อ.ต.ก. มุ่งส่งเสริมสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสู่ตลาดพรีเมียม โดยเฉพาะผลไม้ไทย เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ ลำไย และกาแฟอินทรีย์ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในตลาดต่างประเทศได้สูงถึง 10 เท่าจากเกรดทั่วไป พร้อมเน้นการส่งเสริม “Niche Market” เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรพัฒนาและปรับตัวสู่ตลาดเฉพาะกลุ่มที่มี “ความเต็มใจจ่าย” (Willingness to Pay) แทนการพึ่งพาการแทรกแซงราคาแบบเดิม”

โรดโชว์ต่างประเทศ: จากผู้ผลิตสู่แบรนด์ของโลก

ในช่วงครึ่งปีหลัง 2568 อ.ต.ก. มีแผนจัดโรดโชว์ในต่างประเทศ โดยเน้นการสร้างการรับรู้ในตลาดศักยภาพสูงในตะวันออกกลาง ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย อิสราเอล และจอร์แดน ซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง นิยมสินค้าไทย และเปิดรับวัฒนธรรมอาหารจากเอเชีย

กลยุทธ์การตลาดจะเน้น “สร้างประสบการณ์จริง” เช่น การให้ชิม แจกตัวอย่าง และเล่าเรื่องราวเบื้องหลังของสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคต่างชาติได้เข้าใจและจดจำความโดดเด่นของสินค้าเกษตรไทย โดยยึดหลักว่า “ผู้บริโภคจะไม่มีวันรู้ว่าสินค้าเราดี ถ้าเขาไม่เคยสัมผัส”

บทบาทของ อ.ต.ก. ในเวทีโลก

ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณและจำนวนบุคลากร อ.ต.ก. ยังคงเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้งบเฉพาะกิจกรรมโรดโชว์เฉลี่ยปีละ 10–16 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการทั้งกิจกรรมในประเทศและต่างประเทศ เช่น การเข้าร่วมงาน International Green Week (IGW) ซึ่งมีผู้ร่วมงานกว่า 200,000 คน/ปี รวมทั้งงาน Thailand Agri Intertrade ที่ อ.ต.ก. ยกสินค้าเกษตรพรีเมียมไปจัดแสดงและจำหน่ายในตลาดศักยภาพสูงหลายประเทศทั่วโลก

เป้าหมายของการเข้าร่วมไม่ใช่เพียงเพื่อขายสินค้า แต่เพื่อ “วางตำแหน่งสินค้าเกษตรไทยในสายตาผู้บริโภคโลก” และปลุกจิตสำนึกถึงคุณภาพสินค้าไทยผ่านประสบการณ์ตรง

แนวทางต่อยอด: พัฒนาตลาดและเกษตรกรไปพร้อมกัน

อ.ต.ก. ยังเดินหน้าโครงการคัดเลือกเกษตรกรต้นแบบ (Flagship Farmers) เพื่อเข้าสู่ตลาดพรีเมียม ทั้งในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ การผลิตตามมาตรฐานสากล (UDR, ESG) และการฝึกฝนทักษะทางการตลาด โดยใช้แรงจูงใจจากปลายทาง เช่น รายได้ที่สูงขึ้นจากสินค้าเกรดพรีเมียม เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกร

นอกจากนี้ ตลาด อ.ต.ก. ยังทำหน้าที่เป็น “เวทีฝึกขาย” เป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกรรุ่นใหม่ โดยจัดสรรพื้นที่หมุนเวียนสำหรับการฝึกฝนประสบการณ์การตลาดจริง เจรจาราคา และแข่งขันในตลาดจริง

ความหวังต่อการขยายสัญญาเช่ากับการรถไฟ

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาตลาดอย่างยั่งยืน คือความคืบหน้าในการเจรจาสัญญาเช่าพื้นที่กับการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งดำเนินการมากว่า 4 ปีแล้ว โดย อ.ต.ก. หวังว่าจะได้รับการสนับสนุนในเชิงนโยบาย เพื่อลดภาระต้นทุนค่าเช่าที่สูงถึงปีละ 185 ล้านบาท และสามารถนำทรัพยากรกลับมาพัฒนาพื้นที่ตลาดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ค้าและเกษตรกร

จากตลาดไทย สู่ตลาดโลก

อ.ต.ก. ไม่ได้เป็นเพียงผู้จัดการตลาด แต่เป็น Marketing Arms หรือพันธมิตรของเกษตรกรในการพัฒนาเชิงกลยุทธ์ สร้างมูลค่า และยกระดับสินค้าเกษตรไทยสู่แบรนด์ระดับโลก ผ่านการตลาดเชิงสัมผัส การสร้างความเชื่อมั่น และการเชื่อมโยงผู้ซื้อทั่วโลกกับผู้ผลิตชาวไทยอย่างใกล้ชิด