การเชื่อมโยงไทย-จีนและแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจในยุคสมัยใหม่

391

         มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม  ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน และศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทยจีน ได้ร่วมกันจัดการสัมมนาเรื่อง “การเชื่อมโยงไทย-จีนและแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจในยุคสมัยใหม่” เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมจันทร์จรัส มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม  โดยมีหนังสือพิมพ์ บางกอกทูเดย์ และ The Leader Asia เป็นสื่อสนับสนุน

          นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านระบบวิดีโอว่า  การเมืองระหว่างประเทศกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบหนึ่งศตวรรษ  โลกไม่ได้เป็นขั้วเดียวภายใต้อำนาจของสหรัฐฯอีกต่อไป  การพัฒนาของจีนได้นำพาโลกไปสู่การดำรงอยู่แบบหลายขั้ว  จีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกและเป็นเศรษฐกิจที่มีพลวัตมากที่สุดในโลก

          จีนเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างสันติ ดังนั้นจีนจึงได้รับการสนับสนุนจากทุกประเทศในโลกและประเทศในอาเซียน  ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีนช่วยให้การเชื่อมโยงระหว่างจีน-อาเซียนบรรลุการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง ซึ่งช่วยพัฒนาการค้าจีน-ไทยอย่างมาก  การเชื่อมต่อระหว่างทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย ได้นำพาการค้าจีน-อาเซียนเข้าสู่ยุคใหม่

          ดร.วิรุฬห์ พิชัยวงศ์ภักดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน กล่าวว่า  เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 การค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีนก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  นอกจากนี้การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานเช่นรถไฟจีน-ลาว-ไทย ทำให้เราเห็นถึงศักยภาพของการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนและไทย

          การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ สี จิ้นผิง ในวาระที่ 3 นับเป็นการเข้าสู่ยุคใหม่ของจีน  การส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีน จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างจีนและไทยในยุคใหม่  ต้องอาศัยความพยายามร่วมกันของประชาชนจีนและไทย

          นายพรวิช  ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ 1  กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า  จีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย  เชื่อว่าการค้าจีน-ไทยกำลังเข้าสู่ยุคใหม่  การลงทุนของจีนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก  และสินค้าเกษตรไทยที่ส่งออกไปยังตลาดจีนได้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังการแพร่ระบาด

          ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ของไทย  มีการเชื่อมโยงกับข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง  ไทยได้จัดตั้งสำนักงานการค้าระหว่างประเทศในจีน 7 แห่งเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างไทย-จีน

          ปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศกำลังเข้าสู่ช่วงแห่งความวุ่นวายและมีความเปราะบางมากขึ้น ดังนั้นการค้าระหว่างจีนกับไทยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับไทยและอาเซียนเพราะเราเป็นมิตรแท้   เชื่อว่าไทยและจีนจะจับมือกันเพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่รุ่งเรือง

          พลเอก สุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน  กล่าวว่า  ความทันสมัยแบบอัตลักษณ์จีนที่เสนอโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนามองเห็นทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม  การเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย ทำให้เราเห็นแนวปฏิบัติของเอเชียแปซิฟิกของการเชื่อมโยงโครงข่ายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง  ทำให้เพิ่มการจ้างงานในภูมิภาคได้และเป็นแรงผลักดันสำคัญในการพัฒนา นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ภูมิภาคจีน-อาเซียนด้วย

          หวังว่าไทย-จีนจะเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางกับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย  เชื่อว่าระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกจะกลายเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนในอนาคต

          นอกจากนี้ยังมีการเสวนาหัวข้อ “หนึ่งทศวรรษของหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และยุคสมัยใหม่แห่งความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค” โดยวิทยากรประกอบด้วย ดร.ธารากร วุฒิสถิรกูล นายกสมาคมการค้าการลงทุนเส้นทางสายไหมไทย-จีน  ที่มองว่า หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างจีนกับโลกอย่างสมดุลและยั่งยืน มีเป้าหมายให้ทุกภูมิภาคเติบโตไปด้วยกัน ด้วยความมั่นคงและแข็งแกร่งของสันติภาพแห่งการเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ผศ.ดร.สิทธิ วงศ์ทองคำ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มองถึงโครงการดังกล่าวช่วยเชื่อมการศึกษายุคใหม่ให้มีความหลากหลาย  ช่วยเพิ่มประสบการณ์ของนักศึกษาได้เรียนรู้ในมุมมองที่กว้างขวาง การเชื่อมโลกของจีนสร้างสรรค์การเรียนรู้ให้มีความก้าวหน้าเท่าทันเปลี่ยนแปลง การแลกเปลี่ยนนักศึกษาไทย-จีนช่วยเพิ่มประสบการณ์ทั้งด้านการเรียน การสอน การทำงาน และการใช้ภาษาระหว่างประเทศ ขณะที่ นายจตุรงค์ กอบแก้ว บรรณาธิการข่าว Business Today สะท้อนมุมมองหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเปรียบเสนมือนการสร้างแรงบันดาลใจให้ประเทศต่างๆมองเห็นโอกาสใหม่ๆและกล้าที่จะเดินหน้าโครงการต่างๆในประเทศ เพื่อสอดรับกับโครงการดังกล่าว อาทิ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน หรือ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย ซึ่งการเสนาดังกล่าวดำเนินรายการโดย นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ บรรณาธิการ The Leader Asia