“เจ้าท่า” เร่งผลิตบุคลากรพาณิชยนาวีรับตลาดขนส่งทางน้ำโต พร้อมยกระดับคนเรือทุกระดับชั้น สู่มาตรฐานสากล

254

กรมเจ้าท่า เร่งขับเคลื่อนแผนส่งเสริมการขนส่งทางน้ำและการพาณิชยนาวีปี 2566 รุกผลิตบุคลากรให้เพียงพอกับความต้องการทุกระดับเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการและขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศสอดรับสถานการณ์และบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลง

กรมเจ้าท่า ได้กำหนดแผนการปฏิบัติงานด้านการพัฒนาพาณิชยนาวี (การส่งเสริม) ประจำปีงบประมาณ  2566 เพื่อส่งเสริมการขนส่งทางน้ำและการพาณิชยนาวีให้มีขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขัน รวมถึง ลดต้นทุนระบบโลจิสติกส์ชองประเทศ และสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนมาใช้การขนส่งทางน้ำ โดยมุ่งเน้นการขนส่งทางลำน้ำและชายฝั่งทะเลให้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างประเทศมากขึ้น ดังนั้นจึงได้ให้ความสำคัญในการผลิตบุคคลากรให้เพียงพอกับความต้องการในทุกระดับของตลาดแรงงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ทั้งนี้ ศูนย์ฝึกพาณิชยนาวี กรมเจ้าท่า มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการผลิตคนประจำเรือทุกระดับชั้นให้เพียงพอกับ ความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อสนับสนุนกิจการพาณิชยนาวีของประเทศ ตลอดจน พัฒนา ฝึกอบรมเพื่อเพิ่มวิทยฐานะคนประจำเรือทุกระดับชั้นให้ใด้มาตรฐานสากลสอดคล้องกับข้อกำหนดในอนุสัญญาว่าด้วยมาตรฐานการฝึกอบรม การออกประกาศนียบัตรและการปฏิบัติหน้าที่ยามในเรือของคนประจำเรือขององค์การทางทะเลโลก (IMO)  และข้อบังคับกรมเจ้าท่าฯ ซึ่งงบประมาณปี 2566 มุ่งเน้นการผลิตและพัฒนาบุคลากรประจำเรือระดับนายประจำเรือฝ่ายเดินเรือ และฝ่ายช่างกลเรือให้มีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ ยังเน้นการฝึกอบรมบุคลากรประจำเรือ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และเทคนิคใหม่ๆ ในด้านวิชาชีพทางเรือให้เกิด ประสิทธิภาพในการทำงาน รวมไปถึงการปลูกฝังให้คนประจำเรือเป็นบุคลากรที่มีคุณธรรมและจริยธรรมในการประกอบอาชีพและสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างดีโดยมีเป้าหมายจำนวนนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ที่สำเร็จการศึกษา  180  คน

จากการจัดทำแผนการดำเนินงานตามแนวทางยุทธศาสตร์การพัฒนากิจการพาณิชยนาวี 6 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วยเรื่องกองเรือ การขนส่งชายฝั่งและลำน้ำ อู่เรือ ท่าเรือ บุคลากร ด้านพาณิชยนาวี และการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกิจการพาณิชยนาวีที่มุ่งเน้นให้เป็นไปอย่างมีระบบ ต่อเนื่อง และสอดคล้อง กับสภาวการณ์ทั้งของโลกและของประเทศในปัจจุบัน จะสามารถใช้เป็นแนวทางนำไปสู่การส่งเสริมพัฒนากิจการพาณิชยนาวี เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการและ ลดต้นทุนระบบโลจิสติกส์ของประเทศ